พาชมโรงงาน Boeing พร้อมพา Boeing 787-9 ลำใหม่ของการบินไทยกลับสุวรรณภูมิ

วันนี้ผมตื่นเต้นมากครับ ที่จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรับชมประสบการณ์สุดพิเศษ ในโอกาสที่ผมมีโอกาสได้เดินทางมาที่โรงงานประกอบเครื่องบิน Boeing Everett ที่เป็นโรงงานหลักของ Boeing ศูนย์กลางประกอบเครื่องบิน Boeing รุ่นสำคัญหลากหลายรุ่น เช่น Boeing 747, 767, 777 และ 787 Dreamliner นอกจากนี้ผมยังมีโอกาสได้ต้อนรับเครื่องบิน Boeing 787-9 ลำล่าสุดของการบินไทย เพื่อบินจากโรงงาน Everett แห่งนี้ กลับไปยังสนามบินสุวรรณภูมิด้วยเที่ยวบินพิเศษอีกด้วย ไปรับชมประสบการณ์สุดพิเศษนี้พร้อมๆ กันเลยครับ

Disclosure: บทความนี้ ได้รับการสนับสนุนการเดินทางจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ Boeing Commercial Airplanes (BCA) โดยความเห็นทั้งหมดเป็นของผู้เขียน จากประสบการณ์ตรงที่ได้รับ ซึ่งผู้สนับสนุนไม่มีส่วนในการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อความใดๆ ในบทความนี้

Boeing Customer Experience Center

ก่อนที่จะไปชมโรงงานกันนั้น ผมอยากพาทุกคนมาดูที่นี่ก่อนครับ Boeing Customer Experience Center (CEC) ซึ่งเป็นศูนย์ต้อนรับลูกค้าเครื่องบินของโบอิ้ง (ก็คือสายการบินต่างๆ ทั่วโลกนั่นแหละครับ) ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมือง Seattle และก็ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ Boeing ด้วย ศูนย์ฯ แห่งนี้ ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมนะครับ และภายในก็มีส่วนที่น่าสนใจหลากหลายส่วนเลย

วันนี้ผมได้รับข้อมูลจาก Jim Freitas ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Product Marketing and Analysis ของ Boeing Commercial Airplanes ในการให้ข้อมูลเครื่องบินพาณิชย์ของโบอิ้ง และเทรนด์ของการโดยสารด้วยเครื่องบินในอนาคตครับ ซึ่ง Jim เริ่มจากการให้ข้อมูลว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ การโดยสารด้วยเครื่องบินพาณิชย์จะเติบโตขึ้นสูงมากๆ จากการขับเคลื่อนของสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost carrier: LCC) และ Boeing คาดการณ์ว่า สายการบินทั่วโลก จะต้องการเครื่องบินใหม่อีกจำนวนกว่า 41,030 ลำ มูลค่ารวม 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2036 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า

ในจำนวนทั้งหมดนี้ จะทำให้การโดยสารด้วยเครื่องบินพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา เติบโตขึ้นอย่างมากนะครับ โดยเฉพาะตลาดสายการบินต้นทุนต่ำหรือ LCC จะมีสัดส่วนที่มากขึ้นจาก 38% ในปัจจุบัน ไปเป็น 52% ในปี 2036 และจะมีการใช้เครื่องบินแบบลำตัวแคบ ทางเดินเดี่ยว (single-aisle) เติบโตอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับตลาดปัจจุบัน และจะทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินมีราคาที่ถูกลงอย่างมากด้วย

Boeing เอง มีเครื่องบินลำตัวแคบรุ่นใหม่อย่าง Boeing 737 MAX ที่ออกมารองรับตลาดที่กำลังเติบโตนี้ และได้รับกระแสตอบรับดีมากๆ จากสายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดยมียอดสั่งซื้อแล้ว 3,902 ลำ จากลูกค้า 91 ราย และได้เริ่มส่งมอบ 737 MAX 8 แล้วตั้งแต่ปีนี้ ส่วน 737 MAX 9 ที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น จะเริ่มส่งมอบลำแรกได้ในปีหน้า (2018)

ส่วนรุ่นสำคัญ และเป็นตัวเอกในวันนี้ ก็คือ Boeing 787 Dreamliner ที่การบินไทยจะรับมอบ 787 ลำที่ 8 ในการมาเยือนโรงงานโบอิ้งครั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จากจำนวน Boeing 787 ที่ได้ส่งมอบไปแล้ว 606 ลำทั่วโลกนั่น มีอัตราการบินได้สำเร็จตามตารางบินสูงถึง 99.4% และมีเวลามากกว่าครึ่งหนึ่งบินอยู่บนอากาศ (เฉลี่ยมีการใช้งานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน) ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องบินรุ่นที่มีเสถียรภาพมากที่สุดรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน

นอกจากนี้ Boeing 787 Dreamliner ยังเป็นเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย (ผมแคยเจาะลึกเทคโนโลยีของ 787 Dreamliner ให้ชมไปแล้ว >> ที่นี่) มีพิสัยการบินระยะไกล และตั้งแต่ที่ Boeing เริ่มส่งมอบนั้น Boeing 787 ได้เปิดตลาดเส้นทางใหม่ๆ ทั่วโลกไปมากถึง 170 เส้นทางครับ

ปิดท้ายเครื่องบินรุ่นใหม่ของ Boeing ด้วยตระกูล 777 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบินรุ่นที่ขายดีที่สุดของโบอิ้ง โดยเฉพาะในรุ่นยอดนิยมอย่าง 777-300ER ที่มีเสถียรภาพสูง ลำตัวกว้าง มีความยืดหยุ่นในการทำเคบินภายในได้หลากหลาย จนได้รับการยอมรับจากสายการบินต่างๆ ทั่วโลก โดย Boeing เองก็มีแผนในการพัฒนาเครื่องบินตระกูล 777 ไปขึ้นขั้นด้วยรุ่น 777X ที่ได้เปิดตัวไปแล้ว มีการใช้เทคโนโลยีบางส่วนจาก 787 Dreamliner และมีการพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นของ config ภายในเครื่องบินสูง เหมาะกับลูกค้าสายการบินที่ต้องการเครื่องบินลำตัวกว้าง รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 350-425 คน และมียอดจองจากลูกค้าทั่วโลกแล้วกว่า 300 ลำ คาดว่าจะเริ่มส่งมอบลำแรกได้ในปี 2020

Mock-up Cabin

ในศูนย์ Boeing CEC แห่งนี้ ยังมีส่วนที่เป็น “Mock-up” หรือแบบจำลองห้องโดยสารของเครื่องบิน โดยเป็น Mock-up “ขนาดเท่าของจริงบนเครื่องบินหลากหลายรุ่น อย่างเช่นห้อง Mock-Up ห้องแรกที่ผมได้เข้าไปชมนี้ เป็นของ Boeing 787 Dreamliner ซึ่งมีการเน้นการใช้พื้นที่ภายในเครื่องบิน มีการวางที่นั่ง Business Class และ Economy Class หลายแบบให้ลูกค้าโบอิ้งได้เลือก และมองเห็นภาพมากขึ้นเมื่อจะนำไปปรับใช้กับฝูงบินของตนเอง มีการติดตั้งไฟ LED ในห้องโดยสาร และสามารถปรับแสงไฟตามค่า preset ต่างๆ ได้นับสิบแบบ อย่างที่มีอยู่ใน Boeing 787 Dreamliner ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ Boeing CEC ยังมีห้องจำลองอีกหลายห้อง ตามรุ่นต่างๆ ของเครื่องบิน ทั้ง Boeing 747-8 หรือ Boeing 737 MAX ที่เป็นคอนเซ็ปต์ของเครื่องบินแห่งอนาคต มีการโชว์เคบินของห้องโดยสาร Economy รูปแบบใหม่ ที่มีพื้นที่มากขึ้น และมีเบาะที่บางลงกว่าเดิม เป็นต้น

THAI Boeing 787-8 Dreamliner Retrofit

Boeing เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การบินไทยมี Boeing 787-8 ทั้งหมด 6 ลำ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการนำ Boeing 787-8 ทั้ง 6 ลำนี้ มาปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนของ crew rest เข้าไป บวกกับการขยายขนาดของถังออกซิเจน เพื่อให้การบินไทยสามารถนำเครื่องบิน Boeing 787-8 ทั้ง 6 ลำนี้ ไปใช้ในเส้นทางบินที่ไกลขึ้น เช่น เส้นทางกรุงเทพ-ยุโรป คาดว่าจะสามารถปรับปรุง 787-8 ทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในต้นปีหน้า (ลำแรกน่าจะเสร็จเร็วๆ นี้เลย และเราน่าจะได้เห็น Dreamliner มาบินในเส้นทางยุโรปเร็วๆ นี้เลยเช่นกันครับ)

ส่วน Boeing 787-9 ซึ่งเป็นลำที่ใหญ่ขึ้นนั้น การบินไทยมีทั้งหมด 2 ลำครับ และที่ผมมาโรงงานโบอิ้งครั้งนี้ ก็เพื่อรับมอบ Boeing 787-9 ลำที่สอง ซึ่งเป็นลำสุดท้ายแล้ว

Boeing Everett Factory

สายการผลิตเครื่องบิน Boeing นั้น ถูกแบ่งออกเป็น 2 สายหลักๆ นะครับ นั่นคือเครื่องบินรุ่นลำตัวแคบ (narrow body jet) เช่นรุ่น Boeing 737 ที่จะประกอบที่โรงงาน Renton , กับรุ่นลำตัวกว้าง (wide body jet) เช่นรุ่น Boeing 747, 767, 777, 787 จะประกอบที่โรงงาน Everett แห่งนี้ ที่ผมจะพาชมกัน

โดยปกติแล้วโรงงาน Boeing Everett จะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายในครับ และมีส่วนที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้เพียงแค่บนระเบียงที่สามารถมองลงมาเห็นสายการผลิตเครื่องบิน Boeing 777 กับ Boeing 787 ในขั้นตอนสุดท้ายของโรงงานเท่านั้น ดังนั้น การพาชมโรงงานโบอิ้งวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษสุดๆ ครับ

โรงงาน Boeing Everett ถือว่าเป็นอาคารเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยครับ มีพื้นที่ของอาคารโรงงานเกือบ 4 แสนตารางเมตร (ประมาณ 250 ไร่) ใหญ่กว่าพื้นที่ของดิสนีย์แลนด์แต่อยู่ในอาคารเดียว มีพนักงานกว่า 30,000 คน และโรงงานนี้ใช้หลอดไฟมากกว่า 1 ล้านดวงในการให้แสงสว่าง

สายการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่แต่ละรุ่นในโรงงานนี้ มีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกันครับ และก็คล้ายคลึงกับสายการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันด้วย โดยเริ่มตั้งแต่การนำชิ้นส่วนขนาดใหญ่ (ที่ผลิตจากโรงงานอื่นๆ) มาประกอบเข้าด้วยกัน จากลำตัวเครื่องบินที่ต้องติดตั้งระบบต่างๆ เช่น การเดินระบบนิวแมติก เดินสายไฟ การบุฉบวนภายใน จากนั้น ถึงจะเคลื่อนไปสู่สายการประกอบเครื่องบิน ที่มีอัตราการเคลื่อนลำตัวเครื่องบินในโรงงานประมาณ 2 นิ้วต่อนาที และมีการติดตั้งชิ้นส่วนต่างๆ เมื่อเครื่องบินถูกเคลื่อนผ่านพนักงานที่มีหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ นั่นเอง

การประกอบเครื่องบินนั้น มีความซับซ้อนมาก เพราะมีชิ้นส่วนนับล้านชิ้นครับ โบอิ้งให้ข้อมูลว่า ต้องมีการเรียงลำดับการประกอบให้รอบคอบเพื่อลดความซ้ำซ้อนที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ทำการติดตั้งชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่าประตูเครื่องเข้าไปก่อนที่จะมีการปิดลำตัวเครื่องบิน เช่น การติดตั้งพื้น, ระบบ galley หรือห้องครัวบนเครื่องบิน, ระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพื่อเทสระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อมีการปิดลำตัวเครื่องบินแล้ว ก็จะผ่านไปถึงขั้นตอนการทดสอบ high blow ที่มีการปรับแรงดันภายในห้องโดยสารเครื่องบินจริง ทดสอบด้วยระดับแรงดันที่เหนือกว่าการบินปกติ เพื่อทดสอบรูรั่วของลำตัวเครื่องบินอย่างละเอียดทุกลำ เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว จึงจะผ่านไปยังขั้นตอนการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ที่นั่ง ห้องน้ำ ที่เก็บของเหนือศีรษะ พรม และการตกแต่งภายในตัวเครื่อง

ขั้นตอนการติดตั้งที่นั่ง ถือว่าเป็นขั้นตอนละเอียดอ่อนของแต่ละสายการบินครับ โดยเฉพาะที่นั่ง business class และ first class ซึ่งแต่ละที่นั่งมีราคาสูงมาก (seat บางแบบมีราคาสูงนับล้านเหรียญต่อที่นั่ง) ทางโบอิ้งต้องมีพื้นที่ในโรงงานสำหรับการเก็บรักษาที่นั่งของ business class และ first class โดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบ และลำเลียงขึ้นไปติดตั้งบนเครื่องบิน โดยขั้นตอนนี้ อาจมีบางส่วนที่ต้องเก็บเป็นความลับ ในกรณีที่สายการบินยังไม่เปิดตัวที่นั่งบางแบบสู่สาธารณชน และเพื่อไม่ให้คู่แข่งได้รับรู้ก่อนการเปิดตัวด้วยนั่นเองครับ

ขั้นตอนสุดท้าย คือการติดตั้งเครื่องยนต์ และนำตัวเครื่องที่ประกอบเสร็จแล้ว เคลื่อนออกจากอาคารโรงงานหลักนี้ ไปยัง paint shop หรือโรงพ่นสีเครื่องบิน ที่จะพ่นตามลวดลายของสายการบินต่างๆ ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการบินทดสอบ และขั้นตอนการตรวจรับ เพื่อส่งมอบให้กับสายการบินต่างๆ ต่อไป

THAI’s 2nd Boeing 787-9 Dreamliner – HS-TWB

สำหรับการเดินทางรอบนี้ ก็เพื่อมารับมอบ Boeing 787-9 Dreamliner ของการบินไทยครับ ซึ่งถือว่าเป็น Boeing 787-9 ลำที่สอง ทะเบียน HS-TWB นามพระราชทาน “พรหมบุรี” เข้าสู่ฝูงบินของการบินไทย โดยวันที่ผมเดินทางมาถึง เครื่องบินลำนี้ได้ผลิตเสร็จสิ้น และได้ผ่านการทดสอบโดยทีมตรวจรับเครื่องบิน และทีมนักบินที่ได้ทำการบินทดสอบ ซึ่งได้เดินทางมาถึง Everett ล่วงหน้าถึง 12 วัน ในการทดสอบเครื่องบินในขั้นตอนต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พิธีการส่งมอบเครื่องบิน Boeing 787-9 Dreamliner ของการบินไทยรอบนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ และ นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย มิสเตอร์ดีแนช เคสคาร์ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายขายประจำเอเชียแปซิฟิกและอินเดีย บริษัทโบอิ้ง, มิสเตอร์แบรด เซแบค ผู้อำนวยการใหญ่และผู้จัดการทั่วไป 787 Program ของ Boeing, มิสเตอร์จอร์จ อาร์โนคูโรส ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกฎหมาย บริษัท Aercap และมิสเตอร์สตีฟ อดัม ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายส่งมอบเครื่องบินใหม่ บริษัท Aercap ร่วมทำพิธีตัดริบบิ้นส่งมอบเครื่องบิน ก่อนที่จะขึ้นเครื่องลำใหม่เอี่ยมนี้ บินตรงจากสนามบิน Paine Field (PAE) ของศูนย์ Boeing Delivery Center แห่งนี้ ตรงกลับไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ แบบไม่หยุดพัก ใช้เวลา 15 ชั่วโมง 30 นาที

Royal Silk Class แบบ Reverse Herringbone บนการบินไทย Boeing 787-9 Dreamliner

เครื่องบินโบอิ้ง 787-9 Dreamliner เป็นเครื่องบินที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยการบินไทยได้ติดตั้งที่นั่งรวมจำนวน 298 ที่นั่ง แบ่งเป็นที่นั่งชั้นธุรกิจ Royal Silk Class จำนวน 30 ที่นั่ง ปรับเอนนอนราบได้ 180 องศา และชั้นประหยัด จำนวน 268 ที่นั่ง

อ่านเพิ่มเติม >> พรีวิว! ที่นั่ง Business Class แบบใหม่ล่าสุดของการบินไทย บน Boeing 787-9

กว่า 15 ชั่วโมง 30 นาที เครื่องบิน Boeing 787-9 Dreamliner ลำใหม่ล่าสุดของการบินไทย ก็กลับมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นที่เรียบร้อยครับ การเดินทางเที่ยวบินยาวๆ บน Boeing 787 นี่มีข้อได้เปรียบอย่างมาก จากเทคโนโลยีอากาศยานแบบใหม่บนเครื่องบินรุ่นนี้ ที่สามารถรักษาความดันอากาศให้อยู่ในระดับ 6,000 ฟิตเหนือระดับน้ำทะเลได้ (เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นเก่า ที่จะอยู่ในระดับ 8,000 ฟิต) จึงทำให้ระบบการหายใจของเราตอนอยู่บนเครื่องบินเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นอื่น ให้ความรู้สึกไม่เหนื่อยล้า และยังมีความชุ่มชื้นในห้องโดยสารมากกว่าด้วย ยิ่งเจอเที่ยวบินแบบยาวนานมากๆ แบบนี้ ยิ่งเห็นความแตกต่างเลยครับ

จากนี้ไป เราคงจะได้เห็น Boeing 787 Dreamliner ทั้งรุ่น 787-8 และ 787-9 ของการบินไทยรวมทั้งสิ้น 8 ลำ ทำการบินในเส้นทางต่างๆ มากมาย และจะมีเส้นทางที่ไกลมากขึ้นกว่าเดิมด้วยครับ เบื้องต้น 787-9 จะใช้บินในเส้นทางกรุงเทพ-ออกแลนด์ และ กรุงเทพ-ไทเป ส่วนรุ่น 787-8 จะสลับบินในหลากหลายเส้นทาง รวมถึงจะมีจุดหมายในทวีปยุโรปด้วยในอนาคตอันใกล้นี้

ส่วนใครที่รอลุ้นว่า การบินไทยจะกลับมาเปิดทำการในเส้นทางสหรัฐอเมริกาอีกครั้งเมื่อไหร่นั้น ผมคิดว่าเราน่าจะได้ยินข่าวดีในช่วงปีหน้านะครับ และคาดว่าน่าจะเป็นเส้นทางบินตรง กรุงเทพ-ซีแอทเทิล ด้วยเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner นี่แหละ เพราะเป็นเส้นทางที่มีพิสัยการบินไกลพอที่จะรองรับผู้โดยสาร และรองรับสภาพอากาศ รวมถึงแรงลมได้ตลอดทั้งปี แต่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้นนะครับ หากมีอัปเดตเพิ่มเติมเมื่อไหร่ ผมจะเอามาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง

พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ

บทความโดย:
อู๋ spin9

ขอขอบคุณ:
การบินไทย
Boeing Commercial Airplanes

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save