Emirates เป็นอีกหนึ่งสายการบินยอดนิยมของคนไทย ที่มีเที่ยวบินออกจากสุวรรณภูมิมากถึง 8 ไฟลต์ต่อวัน และสามารถไปเชื่อมต่อจุดหมายต่างๆ ทั่วโลกได้ที่สนามบินดูไบครับ และ Emirates ก็เป็นหนึ่งในสายการบินที่มีการขยายเส้นทางให้บริการรวดเร็วที่สุดสายหนึ่งของโลก วันนี้ผมจะพาไปนั่ง Business Class บนเครื่องบินนกยักษ์ Airbus A380-800 ที่ Emirates เป็นผู้ให้บริการเครื่องบินขนาดมหึมานี้รายใหญ่ที่สุดในโลกกันครับ
Disclosure: บทความนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากสายการบินหรือตัวแทนที่เกี่ยวข้อง
Emirates เป็นสายการบินที่รัฐบาลดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าของ และเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีฐานประจำการหลักที่สนามบินดูไบ (DXB) ให้บริการไปยังจุดหมายต่างๆ ถึง 154 เมือง ใน 82 ประเทศทั่วโลก และมีเที่ยวบินมากถึงกว่า 3,600 เที่ยวต่อสัปดาห์
ปัจจุบัน Emirates เป็นสายการบินผู้ให้บริการด้วยเครื่องบิน Airbus A380-800 รายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเครื่องบิน A380 ประจำการมากถึง 85 ลำ (การบินไทยยังมีแค่ 6 ลำ) และยังอยู่ในขั้นตอนการรอส่งมอบอีก 57 ลำ ส่วนในฝั่ง Boeing ก็มี Boeing 777 ประจำอยู่มากกว่า 160 ลำ บวกกับการสั่งซื้อ Boeing 777X (777-8 และ 777-9) รุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อมาทดแทนรุ่นเดิมอีก 150 ลำ ทำให้ Emirates เป็นสายการบินที่ใช้ Boeing 777 เป็นรายใหญ่ที่สุดในโลกอีกเช่นกัน เรียกว่าโชว์รวยตามสไตล์เศรษฐีน้ำมันกันแบบสุดๆ
สำหรับเที่ยวบินจากกรุงเทพนั้น Emirates มีให้บริการเที่ยวบินตรงในเส้นทางกรุงเทพ (BKK) – ดูไบ (DXB), ซิดนีย์ (SYD) และฮ่องกง (HKG) โดยมีทั้งเครื่องบินแบบ Airbus A380-800 และ Boeing 777-300ER ให้บริการลูกค้าชาวไทย โดยมักจะมีลูกเรือคนไทยประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก
รีวิววันนี้ผมจะพามาดู Business Class บนเครื่องบินแบบ Airbus A380-800 ของ Emirates ครับ ว่าสายการบินที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง A380 กันจนเป็นเรื่องธรรมดานี้ จะมีความอลังการของ Business Class บนเครื่องบิน type นี้ขนาดไหน สมกับเป็นสายการบินของประเทศเศรษฐีน้ำมันในโซนตะวันออกกลางหรือไม่ มาดูกันเลย
Flight: EK225
Route: DXB-SFO
Date: 26 Oct 2016
Departure Time: 09:10
Arrival Time: 14:00
Duration: 15 hr 50 mins
Seat: 17G
Class: Business Class
Aircraft: Airbus A380-800
Registration: A6EEU
ออกตัวก่อนนิดนึงครับ ว่าเที่ยวบินที่ผมจะรีวิวนี้ ผมได้เดินทางต่อเครื่องจากกรุงเทพ ซึ่งเส้นทางกรุงเทพ-ดูไบที่ผมเดินทางมานั้น ไม่ได้ใช้เครื่องบินแบบ Airbus A380 ก็เลยจะขอข้ามรีวิวในเส้นทางกรุงเทพ-ดูไบไปก่อน (และจะแปะให้ดูในตอนท้าย) แต่จะขอเริ่มรีวิวให้ดูตั้งแต่ขั้นตอนการเช็กอินจากกรุงเทพฯ นะครับ ไม่สิ… ต้องบอกว่า ให้ดูจากบ้านเลยดีกว่า เพราะว่า Business Class และ First Class ของ Emirates นั้น มีบริการรถรับส่งถึงหน้าบ้านเลยล่ะครับ ที่เขาเรียกว่า Emirates Chauffeur
Emirates Chauffeur
Emirates Chauffeur นั้น มีให้บริการฟรีกับตั๋วเครื่องบินในชั้น Business Class และ First Class ของ Emirates ทุกเส้นทาง ยกเว้นเส้นทางกรุงเทพ-ฮ่องกง ที่จะไม่รวมบริการ Chauffeur นี้เข้าไปให้ครับ อย่างในกรณีนี้ หลังจากที่ผมได้จองตั๋ว Business Class ของ Emirates แล้ว เราก็จะมีออปชั่นบนหน้าเว็บ เพื่อทำการจองรถที่จะมารับถึงหน้าบ้านเราได้เลย โดยสามารถระบุเวลามารับได้ช้าสุดไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงก่อนเที่ยวบิน
รถที่มารับผมคราวนี้ เป็น BMW 5 Series ป้ายเขียวครับ เจ้าหน้าที่โทรมานัดแนะเวลาล่วงหน้า และบริการอย่างสุภาพนอบน้อม ช่วยยกกระเป๋าขึ้นท้ายรถ และในรถก็มีน้ำดื่ม ผ้าเย็น คอยให้บริการอย่างครบถ้วน
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อยากแนะนำให้ทำการจองรถมารับทุกครั้งที่เป็นไปได้ เพราะหากเกิดเหตุรถติดมากๆ ทางเจ้าหน้าที่จะช่วยประสานงานกับสายการบินให้ ไม่ต้องกลัวเหตุไปไม่ทันจนตกเครื่อง เพราะบริการ Chauffeur นี้เป็นบริการของสายการบินอยู่แล้ว สามารถประสานงานให้ทำการรอผู้โดยสารในบางกรณีได้ หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น ก็ทำให้อุ่นใจขึ้นได้อีกระดับครับ แต่ที่สำคัญก็คือ ประหยัดค่ารถไปสนามบินเยอะเลย แถมไม่ต้องเสียค่าจอดรถที่สนามบินอีกด้วย เพราะขากลับก็จะมีรถแบบเดียวกันนี้แหละ คอยรอรับเพื่อไปส่งถึงหน้าบ้าน
Check-in
ขั้นตอนการเช็กอินของ Emirates Business Class ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ไม่แตกต่างอะไรจากชั้นโดยสารพรีเมียมทั่วๆ ไปครับ มีการแบ่งเคาน์เตอร์เอาไว้อย่างชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการอย่างรวดเร็ว
หลังจากเช็กอินแล้ว ก็จะได้บัตร Premium Lane สำหรับผ่านขั้นตอนการ X-ray และ ตม. ในช่องพิเศษครับ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติปกติของ Business Class แทบจะทุกสายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ (ยกเว้นการบินไทย ที่มีช่องพิเศษของตนเอง)
Emirates Business Lounge, Suvarnabhumi Airport
สายการบินเอมิเรตส์ ตอนนี้จริงจังกับการทำตลาดในไทยอย่างมากครับ มีเที่ยวบินเดินทางจากกรุงเทพ-ดูไบมากถึงวันละ 6 เที่ยวบิน และยังมีกรุงเทพ-ฮ่องกง กับ กรุงเทพ-ซิดนีย์ อีกวันละ 1 เที่ยวบิน จึงลงทุนทำ Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นของตัวเองเสียเลย และก็ทำได้ดีมากๆ เสียด้วยครับ
เลานจ์ของ Emirates ตั้งอยู่บริเวณ Concourse D ฝั่ง West ครับ ซึ่งเลานจ์แห่งนี้ได้ถูกปรับปรุงมาใหม่เมื่อช่วงกลางปี 2014 ด้วยงบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองรับผู้โดยสารได้ 136 คน และเปิดตลอดช่วงที่มีไฟลต์ของ Emirates ทำการบิน ยาวไปจนถึงไฟลต์สุดท้ายในรอบตีสองครึ่งเลยทีเดียว
ไลน์อาหารในเลานจ์ Emirates นี่จัดหนักจัดเต็มครับ อาหารร้อนแบบเอาอิ่มนี่มีให้เลือกหลายอย่างมากๆ ยังไม่นับรวมสลัด ขนมคบเคี้ยว ของทานเล่น ผลไม้ และขนมหวานอีกเพียบ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้แบบไม่ยั้งครับ แชมเปญที่เสิร์ฟในเลานจ์เป็น Moët ที่มีเจ้าหน้าที่คอยเปลี่ยนขวดใหม่ให้ทันทีที่หมด (แต่เติมเดินไปเทเองที่เคาน์เตอร์) ส่วนบริเวณภายในเลานจ์ก็มีหลายโซน ทั้งโซนทานอาหาร, โซฟาเอนหลัง, โซน Quiet และยังมีห้องอาบน้ำด้วยเผื่อสำหรับผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องไปยังจุดหมายถัดไป
เป็นหนึ่งในเลานจ์ที่ดีที่สุดเลานจ์นึงในสนามบินสุวรรณภูมิเลยแหละครับ โดยผู้ที่จะมีสิทธิ์เข้ามาใช้ ต้องเดินทางด้วยสายการบิน Emirates บนชั้น Business หรือ First รวมถึงสมาชิกบัตร Emirates Skywards ในระดับ Gold และ Platinum ครับ หากเดินทางด้วยสายการบินอื่น ก็หมดสิทธิ์นะ
Emirates Business Class Lounge, Dubai International Airport
กระโดดข้ามมาดูอีกหนึ่งเลานจ์ ที่สนามบินดูไบ เจ้าถิ่นของเค้ากันบ้างครับ ที่แน่นอนว่ายิ่งต้องจัดเต็มสมกับเป็นเจ้าบ้าน และก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เพราะนี่คือเลานจ์สายการบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว
เลานจ์นี้ใหญ่ขนาดที่ว่า มันเหมาไปทั้งชั้นของอาคารผู้โดยสารเลยล่ะครับ โดยยึดพื้นที่ชั้นบนทั้งหมด เป็นโซนของผู้โดยสาร Business Class ที่สามารถเลือกนั่ง เลือกกินได้ตามใจชอบ มีโซนพักผ่อน และอาหารเครื่องดื่มต่างๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งชั้น (แต่ก็ไม่ค่อยอร่อยหรอกนะครับ) รวมถึงมีห้องอาบน้ำที่รองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมากด้วย
ความสะดวกขั้นสุดของเลานจ์ที่สนามบินดูไบก็คือ มันสามารถเชื่อมไปถึงเกตขึ้นเครื่องทุกเกตเลยครับ จากเลานจ์นี้สามารถกดลิฟต์ลงไปยังเกตขึ้นเครื่องแต่ละเกตได้โดยตรง
Boarding
ขั้นตอนการบอร์ดขึ้นเครื่องที่สนามบินดูไบนี่ง่ายมากครับ หากมาจากเลานจ์ก็กดลิฟต์ลงมาที่เกต และตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องได้เลย ไม่ต้องนั่งรอ หรือเบียดเสียดกับผู้โดยสารทั้งลำ ถือว่า Emirates ออกแบบเทอร์มินัลได้ลงตัวมาก แม้ว่าจะเป็นเทอร์มินัลที่มีขนาดใหญ่โตจนต้องเดินไกลไปหน่อยก็ตามที แต่ขั้นตอนการขึ้นเครื่องนี่สะดวกรวดเร็วจริงๆ
On Board
บนเครื่องบินแบบ Airbus A380-800 ของ Emirates นี้ จะแบ่งชั้นบนของเครื่องบินทั้งหมดเป็นที่นั่งของผู้โดยสาร First Class และ Business Class ครับ และพื้นที่ชั้นล่างของเครื่องบินก็จะเป็น Economy ทั้งหมดเลย จัดที่นั่ง Business Class แบบ 1-2-1 ทุกแถว โดยสลับที่นั่งเหลื่อมกันไปมา ดังที่จะเห็นการจัดที่นั่งแบบนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจะทำให้ทุกที่นั่งติดกับทางเดิน ให้ความสะดวกและเป็นส่วนตัวอย่างมาก
ไฟลต์นี้ผมได้ที่นั่ง 17G ครับ เดินมาถึงที่นั่งก็จะมีหมอน ผ้าห่ม หูฟัง วางเตรียมไว้บนเก้าอี้อย่างเรียบร้อย การตกแต่งที่นั่งของ Emirates จะใช้โทนสีอ่อน เบาะที่นั่งสีเทา สลับด้วยกรอบพลาสติกลายไม้เงาๆ ทั่วทั้งเคบิน สวยงามและแปลกตาไปกว่าสายการบินอื่นๆ พอสมควรครับ
ช่องสอดขาด้านหน้า ขนาดใกล้เคียงกับสายการบินอื่นๆ ที่เลือกใช้ที่นั่งลักษณะเดียวกันนี้ แต่ที่โดดเด่นคือหน้าจอความบันเทิงที่ใช้พื้นที่เต็มเหนี่ยวจริงๆ ครับ เต็มตาสะใจมาก และเหมาะกับไฟลต์บินอ้อมขั้วโลกเหนือนี้ที่ยาวนานเกือบ 16 ชั่วโมง ต้องโดนหนังสัก 2-3 เรื่องเป็นอย่างน้อย
Seat Features
โต๊ะด้านข้าง แอบมีลูกเล่นเล็กน้อย คือทาง Emirates พยายามทำให้เป็น mini bar ใส่ขวดเครื่องดื่มเล็กๆ เอาไว้ให้ ทั้งน้ำผลไม้ น้ำเปล่า และแก้วน้ำ ช่องด้านบนมีถุงเท้ากับผ้าปิดตามาให้ ส่วนช่องเสียบชาร์จไฟ ก็ครบถ้วน ทั้งปลั๊กมาตรฐานแบบ universal, ช่องชาร์จ USB จำนวนสองพอร์ต และ ช่องเสียบหูฟังแบบ noise cancellation
ขอบโต๊ะด้านข้าง เป็นตำแหน่งของปุ่มปรับที่นั่ง ซึ่งมีปุ่มปรับที่นั่งมาให้แค่นี้เลยจริงๆ ผิดจากสายการบินอื่นๆ ที่มักจะมีปุ่มปรับที่นั่งหลายตำแหน่ง และปรับได้ละเอียดกว่านี้ อันนี้คือมีปุ่ม 3 ตำแหน่งมาตรฐาน (Upright, Relax และ Bed) กับปุ่มเลื่อนที่นั่งใกล้-ไกลมาให้เท่านั้น
รีโมทคอนโทรลสำหรับควบคุมหน้าจอความบันเทิง เป็นรีโมทแบบทัชสกรีน ที่สามารถปรับตำแหน่งที่นั่งได้ด้วย แต่ก็ไม่สามารถปรับได้ละเอียดมากนักเช่นกัน และควบคุมได้ค่อนข้างลำบากครับ หน้าจอบนรีโมทนี่ก็เป็นแบบความละเอียดต่ำ และกดไม่ค่อยจะตามนิ้วเหมือนกับสมาร์ทโฟนที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยมากกว่า
นอกจากรีโมทอันเล็กแล้ว ยังมีแท็บเล็ตมาให้ด้วยนะครับ แต่ฟังก์ชั่นจะคล้ายๆ กัน ก็เลยดูซ้ำซ้อนกันไปหน่อย แท็บเล็ตอันนี้ก็เอาไว้ควบคุมหน้าจอความบันเทิงเช่นเดียวกัน โดยสามารถแยกการแสดงผลได้ทั้งบนแท็บเล็ตและบนหน้าจอใหญ่ แต่ให้ถือแท็บเล็ตตัวนี้ไว้ตลอดก็ไม่ไหวเช่นกัน เพราะหนาและค่อนข้างหนักเลยครับ ส่วนตัวผมว่ามันไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไหร่
นั่งได้สักพัก ก็จะมีเมนูกับ Wine List มาให้เลือกครับ โดยไฟลต์นี้มีความยาวเกือบ 16 ชั่วโมง จะมีการเสิร์ฟมื้อใหญ่ 2 มื้อ โดยคั่นกลางด้วยมื้อ Snack แบบเบาๆ อีก 1 มื้อ จัดได้ว่ายาวนาน แต่ก็ไม่ปล่อยให้มีจังหวะได้หิวสักเท่าไหร่เลย
ชุดกระเป๋า amenity ที่ให้มา เป็นของ Bvlgari ครับ เท่าที่ผมสังเกตดู มีการแบ่งของผู้ชายกับผู้หญิงเอาไว้ด้วย ข้างในมีผลิตภัณฑ์ Bvlgari โลชั่น ชุดแปรงสีฟัน มีดโกนหนวด (ของผู้หญิงไม่แน่ใจว่าให้อะไรมาแทน) โรลออนดับกลิ่น (ใส่ใจจริงๆ) และของใช้ในห้องน้ำเล็กๆ น้อยๆ
Meal #1
อาหารมื้อแรกมาเสิร์ฟแล้วครับ เป็นมื้อเช้า ที่ผมเลือกเป็นเมนู Eggs Benedict เสิร์ฟมาพร้อมกับขนมปัง ผลไม้ และ โยเกิร์ต ที่รสชาติโดยรวมดีกว่าที่คาดเอาไว้มาก (ผมค่อนข้างผิดหวังจากรสชาติอาหารในเลานจ์ของ Emirates ที่สนามบินดูไบพอสมควร) เมนูไข่ปรุงมาได้สุกพอดิบดี อุ่นมาร้อนๆ และค่อยๆ มาเสิร์ฟให้กับผู้โดยสารทีละคน โดยจุดเด่นของการเสิร์ฟบน Business Class ของ Emirates ก็คือ ไม่มีการใช้รถเข็นในการเสิร์ฟเลยครับ จะเป็นลูกเรือถือถาดเดินเสิร์ฟมาจากหลังครัวเท่านั้น ดูดี และให้ความรู้สึกดีกว่าการรับอาหารถาดจากรถเข็น แต่วิธีนี้จะทำให้ทางเดินวุ่นวายเสียหน่อย เพราะจะมีลูกเรือเดินสวนกันไปมาตลอดเวลาในช่วงที่มีการเสิร์ฟครับ
On-board Lounge
ที่ถือว่าเป็นจุดเด่นกว่าสายการบินอื่นๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งนี้แหละครับ บริเวณด้านท้ายของเครื่องบิน จะเป็นตำแหน่งของบาร์เครื่องดื่มพร้อมที่นั่ง ที่ Emirates เรียกว่า On-board Lounge หากใครเดินทางกันหลายคน ก็พากันมา hang out ที่โซนนี้ได้ จะได้คุยและส่งเสียงดังกันได้แบบไม่รบกวนผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่ต้องการพักผ่อนมากนัก หรือถ้าเดินทางคนเดียว มานั่งชิลแถวนี้ ก็อาจจะได้เพื่อนใหม่เลยล่ะครับ
Flat Bed
ไฟลต์นี้ถือเป็นไฟลต์ยาวนานมากครับ เวลาส่วนมากของไฟลต์จะถูกปิดไฟเคบินให้มืด เพื่อให้ผู้โดยสารที่อยากจะพักผ่อนสามารถพักได้เต็มที่ ผมกดปรับที่นั่งเป็นตำแหน่งนอนราบ เอาหมอนมารองศีรษะ และจัดผ้าห่มเข้าที่เรียบร้อย เปิดหนังดูสักเรื่อง แต่พอรู้ตัวอีกทีก็หลับซะแล้ว ลุกมาอีกทีก็รู้สึกว่านอนหลับหายไปหลายชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับความยาว 16 ชั่วโมงของไฟลต์นี้แล้ว นี่มันเพิ่งจะผ่านไปไม่ถึงครึ่ง!!
WiFi on board – $1!!!
ที่เด่นสุดๆ คือบริการ WiFi บนเครื่องบินของ Emirates นี่แหละครับ ที่ถือว่าใจถึงที่สุดในบรรดาทุกสายการบิน ให้บริการฟรี 10MB แรก และคิดค่าบริการแค่ $1 (35 บาท!) เท่านั้นสำหรับการใช้งาน 500MB ไม่จำกัดเวลาตลอดเที่ยวบิน ราคาแบบนี้ ซื้อได้เลยแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ส่วนความเร็วก็เป็นไปตามมาตรฐานของ WiFi บนเครื่องบินแหละครับ คาดหวังความเร็วอะไรไม่ค่อยได้ แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป เช็กเมล ตอบเมล ตอบ LINE ดู Facebook อ่านทวิตเตอร์ ยกเว้นการโหลดรูปใหญ่ๆ หรือวิดีโอนี่หมดสิทธิ์ได้ใช้งาน
Lavatory
ห้องน้ำบน Emirates A380 ของชั้น Business Class มีทั้งหมด 4 ห้องครับ อยู่บริเวณท้ายสุดของเครื่องบิน แต่ละห้องจะใหญ่ไม่เท่ากัน โดยห้องนี้น่าจะแคบสุด ที่ส่วนตัวผมคิดว่าแคบไปหน่อยสำหรับห้องน้ำ Business Class แต่เห็นแบบนี้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็มีให้ครบถ้วน และขอเพิ่มได้แบบไม่ยั้ง เช่นพวกแปรงสีฟัน หรืออย่างโลชั่น น้ำหอมต่างๆ ก็เป็นของ Bvlgari ทั้งหมด
Light Bites
กลับมาที่นั่ง นอนกลิ้งไปมาได้สักพัก ก็ถึงเวลาเสิร์ฟอาหารมื้อเล็กๆ คั่นกลางไฟลต์ครับ เมนูนี้ผมเลือกเป็นพาสต้าครีมกุ้ง เสิร์ฟมาแบบชามเล็กๆ ไม่หนักท้องจนเกินไป
จานนี้ไม่ถึงกับอร่อย แต่ก็ไม่ถึงกับแย่ครับ ถือว่าสอบผ่านก็แล้วกัน
มีของหวานปิดท้ายให้ด้วยครับ เมนูนี้ชื่อว่า Vanilla Dome เสิร์ฟมาบนบิสกิตแผ่นขนาดกลางๆ พร้อมราสเบอรี่ และ บลูเบอรี่ รสชาติงั้นๆ ครับ นอนต่อดีกว่า
Meal #2
ข้ามไปที่อาหารมื้อสุดท้าย ที่เป็นมื้อใหญ่สุดของเที่ยวบินนี้ เสิร์ฟก่อนที่เครื่องจะแลนด์ประมาณ 2 ชั่วโมงครับ ผมเลือกจานแรกเป็นซุปมะเขือเทศ แต่พอมาเสิร์ฟจริงๆ อลังการมาก มาพร้อมขนมปัง และ สลัดผักด้วย
เห็นแบบนี้ รสชาติดีเลยแหละครับ ระหว่างนี้ก็จะมีลูกเรือเดินสวนสนาม ถือถาดกันวุ่นวายเต็มเคบินไปหมดเพื่อทะยอยเสิร์ฟให้กับผู้โดยสารเกือบเต็มลำในไฟลต์วันนั้น โดยที่ลูกเรือจะคอยสังเกตด้วยว่า หากซุปหมดแล้ว ก็จะเก็บไปเพื่อรอจานหลักมาเสิร์ฟต่อทันที และผมก็เลือกจานถัดไปเป็นสเต๊กเนื้อ
สเต๊กเนื้อจานนี้ เป็น short ribs ครับ ราดด้วยซอสบาร์บีคิว เสิร์ฟพร้อมมันฝรั่ง และผักย่าง เนื้อนุ่มกำลังดีมากๆ ทานคู่กับผักสลัดที่ให้มา หมดไปอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถรับของหวานต่อได้แล้ว เป็นอันจบไฟลต์นี้อย่างสวยงาม อิ่มทุกมื้อ และได้นอนพักผ่อนในระดับที่โอเคทีเดียวเมื่อเทียบว่านี่คือไฟลต์ที่ยาวนานแบบสุดๆ ครับ
เมื่อเดินทางถึงสนามบินที่หมายแล้ว ก็จะมีคนรอรับของ Emirates Chauffeur เพื่อพาไปถึงโรงแรมที่เมืองจุดหมายปลายทางอีกครั้งตามที่ได้จองเอาไว้ล่วงหน้าครับ ถือเป็นบริการที่สะดวกและคุ้มค่าอย่างมาก ประหยัดค่ารถไปได้เยอะเลย
เรามาดูขากลับกันต่อนะ
Flight: EK226
Route: SFO-DXB
Date: 28 Oct 2016
Departure Time: 16:45
Arrival Time: 19:25
Duration: 15 hr 40 mins
Seat: 10D
Class: Business Class
Aircraft: Airbus A380-800
Registration: A6EOL
ขากลับ ผมเดินทางออกจากสนามบิน San Francisco (SFO) เพื่อมุ่งหน้ากลับมายังสนามบินดูไบ (DXB) ครับ โดยเที่ยวบินนี้ยังคงใช้ Airbus A380-800 บินอ้อมขั้วโลกเหนือเหมือนกับขามา ใช้เวลาเดินทาง 15 ชั่วโมง 40 นาที
Check-in
เคาน์เตอร์เช็กอินที่สนามบิน SFO แบ่งช่องเช็กอินต่างหากสำหรับ First Class และ Business Class เอาไว้เรียบร้อย แต่วันนี้คิวยาวหน่อย เพราะเต็มทุกที่นั่งครับ
Emirates Lounge – San Francisco International Airport
เลานจ์ของ Emirates ที่สนามบิน SFO มีขนาดใหญ่ทีเดียวครับ และก็เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับเลานจ์ Emirates ที่สนามบินอื่นๆ คือมีโซนที่นั่งหลากหลายแบบ (มีโซฟาตัวยาวๆ ไว้เหยียดขา และมีวิวสำหรับดูเครื่องบินด้วย) มีของกินให้เลือกหลากหลาย รวมถึงเครื่องดื่มก็จัดเต็มทั้งแบบมีแอลกอฮอล์และซอฟต์ดริ้งก์
On-board
เที่ยวบินขากลับนี้ เนื่องจาก Emirates ใช้เครื่องบินแบบ Airbus A380-800 แบบเดียวกับขามา ผมจึงขอข้ามในส่วนของ Seat Features และส่วนที่เล่าไปแล้วในเที่ยวบินขามานะครับ จะเอาให้ดูเฉพาะส่วนที่มีความแตกต่าง เช่น พวกอาหารและการบริการบางอย่างเท่านั้น ผมได้ที่นั่ง 10D เดินเข้าเครื่องมาไม่ไกลก็เจอเลย
ความตลกก็คือ รอบนี้ผมมา San Francisco สั้นมากๆ ครับ อยู่แค่ 2 วันก็กลับเลย พอได้ที่นั่งแล้ว แอร์โฮสเตสก็เดินมาทักว่า เราเพิ่งเจอกันเมื่อ 2 วันก่อนเองนี่นา! ใช่แล้ว ลูกเรือทั้งลำ เป็นลูกเรือชุดเดียวกับเที่ยวบินขามาทั้งหมดเลยครับ ก็เลยเกิดอาการเฮฮากันเล็กน้อย เพราะลูกเรือหลายคนจำได้
วิวด้านหน้าที่นั่งผมตลอดเกือบ 16 ชั่วโมงของเที่ยวบินนี้ ดูหนังกันให้เบื่อไปข้างนึงเลย
เมนูอาหาร ทั้ง 3 มื้อของเที่ยวบิน SFO-DXB ครับ เริ่มจากมื้อเย็น และตามด้วย Light Bites จานเล็กๆ จากนั้นก็จะเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าก่อนเครื่องจะแลนด์ที่สนามบินดูไบ เมนูมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย (ไม่น้อยกว่า 3 ช้อยส์หลักในแต่ละมื้อ)
Meal #1
อาหารมื้อแรก เริ่มจาก appetizer เรียกน้ำย่อยกันก่อน ด้วยแซลม่อนรมควัน เสิร์ฟพร้อม Lobster Cocktail และขนมปัง พร้อมสลัดผัก
อาหารจานหลัก เป็นสเต๊กเนื้อ คราดด้วยซอสเห็ด เครื่องเคียงเป็นมันบด หน่อไม้ฝรั่ง และมะเขือเทศ รสชาติลงตัวมากครับจานนี้ เนื้อชิ้นหนา นุ่มกำลังพอดี ทานหมดอย่างรวดเร็ว
ผมไม่ได้เลือกรับของหวานในมื้อนี้ครับ ทานหมดก็เอนเก้าอี้ล้มตัวนอนเลย
Light Bites
ช่วงกลางๆ ไฟลต์ มีเสิร์ฟมื้อเล็กๆ อีก 1 มื้อครับ ผมเลือกรับเป็น ซีฟู้ดซอสเปรี้ยวหวาน เสิร์ฟมาพร้อมข้าวผัดไข่ ทานแล้วเหมือนจะเป็นจานที่พยายามจะปรุงรสแบบสไตล์เอเชีย แต่ยังเข้าไม่ถึงรสชาติแบบบ้านเรามากนัก ทานแล้วแปลกๆ ไม่ถึงกับแย่ แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าอร่อยถูกปากบ้านเรา
Meal #2
มื้อที่เรียกว่าถูกปากจริง เป็นมื้อเช้าที่ผมเลือกเป็นแพนเค้กครับ ซอสเมเปิล เบอรี่ และ กล้วยคาราเมล เสิร์ฟมาพร้อมกับ ขนมปัง ผลไม้สด และโยเกิร์ต แพนเค้กอุ่น และ ซอสหวานกำลังพอดี กล้วยคาราเมลก็อร่อยมาก จนแทบจะต้องขอเพิ่มกันเลยทีเดียว เป็นอาหารเช้าบนเครื่องบินก็เวิกมากครับ (แต่ยังแพ้ข้าวต้มของ EVA Air อยู่นะ)
ขอแอบเอาน้ำผลไม้ในมินิบาร์ที่วางอยู่ข้างๆ ที่นั่งมาให้ดูครับ เท่าที่สังเกตแต่ละที่นั่งจะได้น้ำผลไม้ไม่เหมือนกัน แต่อย่างของผมที่เป็นน้ำสับปะรดนี่ เอามาพลิกๆ ดูเป็นน้ำสับปะรดคั้น 100% (ไม่ใช่จาก concentrate) ข้อเสียคือเวลาวางไว้ข้างๆ ที่นั่งทั้งไฟลต์แบบนี้ คือมันจะไม่เย็นครับ ต้องขอน้ำแข็งเพิ่มจากลูกเรืออยู่ดี รวมถึงพวกโค้ก สไปร์ทกระป๋องที่วางไว้ให้ด้วย ผมเลยคิดว่ามินิบาร์ตรงข้างๆ ที่นั่งนี่ทำเป็น gimmick มากกว่า ใช้จริงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่
Emirates Business Class – Boeing 777-300ER
ก่อนจบ ขอแถมอีกนิดกับที่นั่ง Business Class บน Boeing 777-300ER ของ Emirates ครับ ที่จะไม่อลังการและไม่ส่วนตัวเท่ากับบน Airbus A380 โดยยังคงมีบางเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพ-ดูไบ ที่ยังใช้เครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER อยู่ เลยขอเอามาให้ดูด้วย
การจัดที่นั่งบน 777-300ER นี่เรียงแบบ 2-3-2 เลยครับ เลยอาจจะทำให้รู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัวมากนัก และมีหลายที่นั่งที่ไม่ติดทางเดินโดยตรง รวมถึงที่นั่งที่ติดทางเดิน ก็อาจจะถูกสะกิดจากผู้โดยสารข้างๆ เพื่อขอทางออก ต้องข้ามกันไปมา
แม้ว่าที่นั่ง Business Class บน 777-300ER จะไม่ดีและไม่ส่วนตัวเท่ากับบน A380 แต่มาตรฐานการบริการก็ยังถือว่ายอดเยี่ยมนะครับ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องเลือกที่นั่งให้รอบคอบหน่อย อย่าไปอยู่ตรงกลางสุด หรือถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเลือกที่ที่ข้างๆ เราว่างเอาไว้ก่อนนั่นเอง
Summary – สรุปส่งท้าย
Emirates ถือเป็นอีกหนึ่งสายการบินที่ให้บริการ Business Class อยู่ในระดับยอดเยี่ยมเลยแหละครับ โดยเฉพาะที่นั่งบนเครื่อง A380 ที่ให้บริการอยู่เกือบทุกเส้นทางตอนนี้ ให้ความเป็นส่วนตัวดีมาก และสามารถพักผ่อนในระหว่างเที่ยวบินได้แบบสบายๆ อย่างในรีวิวนี้ ผมได้พิสูจน์แล้วว่า หนึ่งในเที่ยวบินที่ยาวนานที่สุดของ Emirates รวมถึงเป็นหนึ่งในเที่ยวบินที่ยาวนานเกือบที่สุดในโลก ด้วยระยะเวลาบนเครื่องบินกว่า 16 ชั่วโมง ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรือไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดคิดเอาไว้ (แต่ก็ดูหนังเรื่องที่อยากดูไปเกือบหมดสต๊อกเลยแหละ)
ส่วนที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ คือส่วนของ On-board Lounge หรือบาร์เครื่องดื่มพร้อมโซนนั่งคุยกันด้านท้ายเครื่อง ที่ให้เราได้เปลี่ยนอิริยาบทได้เดิน ได้ยืน ได้พักผ่อนหรือพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้แบบไม่รบกวนคนอื่นๆ ที่หาไม่ได้จากสายการบินอื่นๆ เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เดินทางพร้อมกันหลายคน เพราะที่นั่ง Business Class บน A380 นี่ พอมีความเป็นส่วนตัว ก็ต้องแลกกับการที่แต่ละคนจะต้องนั่งห่างกัน คุยกันลำบากเสียหน่อย
อีกส่วนหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือบริการ Emirates Chauffeur ครับ ที่รวมการบริการรับส่งถึงหน้าบ้าน ทั้งสนามบินต้นทาง และไปส่งถึงโรงแรม (หรือที่พัก) ที่เมืองของสนามบินปลายทางด้วย ทั้งหมดให้บริการฟรี และใช้รถลิมูซีนในเกรดดีมากๆ (อย่างของสุวรรณภูมิก็ใช้ BMW 5 Series และ Mercedes-Benz E-Class) โดยเท่าที่ผมทราบ บริการนี้ปัจจุบันมีให้บริการเฉพาะสายการบิน Emirates และสายการบิน Etihad เท่านั้น
และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือบริการ WiFi บนเครื่องบิน ที่มีให้บริการแบบคิดเงินถูกมาก แค่ $1 (35 บาท) ก็สามารถใช้งานได้ 500MB ตลอดเที่ยวบินครับ แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยี WiFi บนเครื่องบินจะยังไม่สามารถทำความเร็วได้สูงมากนัก แต่โดยส่วนมากก็สามารถใช้งานได้แบบโอเค เช็กอีเมลได้ ส่งเมลได้ ตอบแชท ตอบ LINE ได้ โพส Facebook พอไหว ยกเว้นถ้าต้องโหลดรูปใหญ่ๆ เท่านั้นเอง ราคานี้ถือว่าคุ้มสุดๆ แบบเอาใจไปเลย!
Emirates กำลังพยายามขึ้นเป็นผู้นำของสายการบินระดับโลก ด้วยการเพิ่มจุดหมายการบินไปทั่วโลก และเน้นการบริการแบบนานาชาติ ใช้ลูกเรือที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษาในเครื่องบินลำเดียวกัน (มักจะมีประกาศบนเครื่อง ว่าทีมลูกเรือสามารถสื่อสารได้มากกว่า 10 ภาษา) และล่าสุดก็คว้ารางวัล World’s Best Airline ประจำปีนี้จาก Skytrax ด้วย ถือเป็นสายการบินที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมากกับความพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางการบินของโลก ที่หลายคนน่าจะเห็นแล้วว่า Emirates สามารถทำราคาได้ competitive มาก เมื่อเทียบกับสายการบินพาณิชย์อื่นๆ ในหลากหลายจุดหมาย ซึ่งหลายคนยอมที่จะเสียเวลาเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ แทนที่จะบินตรงด้วยสายการบินอื่นๆ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมแล้ว ก็จะยังคงพยายามเลือกตัวเลือกของสายการบินที่สามารถบินตรงได้เอาไว้ก่อน เพราะการแวะเปลี่ยนเครื่องนี่เสียพลังงานและเสียเวลามากกว่าที่คิดนะครับ เช่นถ้าเป็นจุดหมายยุโรปยอดนิยมทั้งหลาย บินจากกรุงเทพสัก 10 ขั่วโมงนิดๆ ได้หลับยาวๆ บนเครื่องบิน ดีกว่าแบ่งเป็น 2 ไฟลต์ ที่จะนอนก็นอนได้ไม่ดีนัก แถมลงมานั่งรอเปลี่ยนเครื่อง ก็ไม่สามารถพักผ่อนได้เต็มที่เท่าไหร่อีกด้วย (แต่ถ้าอเมริกาก็โอเคครับ เพราะยังไงก็ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องสักที่อยู่ดี)
อีกส่วนหนึ่งคือ Emirates ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรการบินหลักๆ เลย โดยเลือกที่จะมีโปรแกรมสะสมไมล์เป็นของตัวเองในชื่อ Emirates Skywards ที่ไม่สามารถนำไมล์มาใช้กับกลุ่ม Star Alliance, OneWorld หรือ SkyTeam ได้ เลยอาจจะทำให้หลายคนลังเล ถ้าเป็นสมาชิกบัตรทองของกลุ่มพันธมิตรการบินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าจะหันมาบิน Emirates อย่างจริงจัง ก็สามารถสะสม benefit ของ Skywards ให้ไปถึงบัตรทองและบัตรแพลทินัมได้ ก็จะได้สิทธิ์ประโยชน์ดีพอตัวเลยแหละครับ
พบกันใหม่รีวิวหน้านะครับ สวัสดีครับ
- รีวิว First Class สายการบิน SWISS — ขั้นสุดของสวิส เส้นทาง Zurich-Bangkok
- พาเดินงาน AIX 2024 ✈️ — พรีวิวที่นั่งใหม่ การบินไทย Airbus A320 ก่อนใช้จริงสิ้นปีนี้
- รีวิว การบินไทย Royal First Class ปี 2024 — กรุงเทพ-ลอนดอน Boeing 777-300ER
- รีวิว Qatar Qsuite ปี 2024 — ยังเป็น Business Class ที่ดีที่สุดอยู่มั้ย?
- รีวิว ANA “The Suite” — First Class ใหม่ บน Boeing 777-300ER
- รีวิว Dassault Falcon 6X — พาบินไปสิงคโปร์ด้วย Private Jet ลำตัวกว้างสุดในโลก
- รีวิว EVA Air Business Class — ซีแอตเทิล-ไทเป Boeing 787-10
- รีวิวกระเป๋าเดินทาง Samsonite ใหม่ 3 รุ่น — ทน เท่ เบา ล้อดีจริง ฟังก์ชั่นครบ!
- เจาะลึก ATC — เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ อาชีพสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน
- รีวิว Business Class สายการบิน Swiss — กรุงเทพ-ซูริค Boeing 777-300ER
- พาชม “SAT-1” เทอร์มินัลใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดแล้ววันนี้
- รีวิว Finnair Business Class ที่นั่งแบบใหม่ ใหญ่สบายมาก แต่ปรับเอนไม่ได้! 🤨
- สุดในรุ่น “ACH130 Aston Martin Edition” — เฮลิคอปเตอร์ Airbus ที่ตกแต่งโดย Aston Martin!
- รีวิว Shark Aero เครื่องบินสปอร์ตสายซิ่ง เร็ว แรง ทำสถิติบินเดี่ยวรอบโลกมาแล้ว
- รีวิว Emirates First Class ปี 2023 — บินสบาย อาบน้ำบนเครื่องบิน หรูสุดแบบไม่เกรงใจใคร
- รีวิว ANA 「THE Room」 Business Class แบบใหม่ล่าสุด กว้างสุด มีประตูทุกที่นั่ง
- รีวิวคู่ พาซู่ชิงขึ้น First Class – สายการบิน Cathay Pacific ไปนิวยอร์ก!
- พาเจาะลึก Airbus A330neo ลำใหม่ล่าสุดของ Thai Lion Air
- รีวิว Qatar Qsuite – Business Class ที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2019
- รีวิว First Class สายการบิน Cathay Pacific นิวยอร์ก-ฮ่องกง ยาวๆ 16 ชั่วโมงรวด
- รีวิว Business Class สายการบิน Cathay Pacific นั่งไกลๆ ปรับปรุงเมนูใหม่ อาหารจัดเต็มสุดๆ
- รีวิว First Class สายการบิน Lufthansa พร้อมรีวิว First Class Terminal สนามบิน Frankfurt
- พาชม เจาะลึก Airbus A330neo รุ่นใหม่ล่าสุด ลำแรกของ Thai AirAsia X
- รีวิว Business Class สายการบิน EVA Air ไทเป-ซานฟรานซิสโก (Boeing 777-300ER)
- รีวิว Business Class สายการบิน Hong Kong Airlines เครื่องบินใหม่ ราคาสุดคุ้ม
- รีวิว Business Class – Cathay Pacific บน Boeing 777-300ER เส้นทาง SFO-HKG
- รีวิว Business Class บน Boeing 787-10 ใหม่ล่าสุด สายการบิน Singapore Airlines
- รีวิว Qatar Qsuite – Business Class ที่เหมือน First Class เป็นห้องส่วนตัว ปิดประตูได้!
- บุกศูนย์ฝึกลูกเรือ Singapore Airlines ชมเบื้องหลังเที่ยวบินที่ไกลที่สุดในโลก!
- รีวิว Royal First Class การบินไทย บน Airbus A380 เส้นทางกรุงเทพ-ลอนดอน
- 6 ความลับของ Economy Class รู้แล้วจะนั่งสบายขึ้นอีกเยอะ!
- รีวิว ‘Throne Seat’ ที่นั่ง Business Class แบบใหม่ล่าสุดของการบินไทย
- รีวิวสุดยอด First Class Suites แบบใหม่ล่าสุด บน Singapore Airlines A380
- รีวิว Business Class สายการบิน Cathay Pacific กรุงเทพฯ – ฮ่องกง
- รีวิว Emirates First Class Suites แบบใหม่ล่าสุด – First Class แรกของโลกที่เป็นห้องปิด 100%
- รีวิว ‘Premium Economy’ การบินไทย ดีงามไม่ต่างจาก Business Class
- รีวิว Premium Flatbed ชั้นธุรกิจ สายการบิน Thai AirAsia X
- รีวิว ห้องอาบน้ำบนเครื่องบิน Emirates First Class – Airbus A380
- รีวิว ANA Premium Economy ชั้นประหยัดพรีเมียม นั่งสบาย ในราคาไม่โหดร้าย
- พาชมโรงงาน Boeing พร้อมพา Boeing 787-9 ลำใหม่ของการบินไทยกลับสุวรรณภูมิ
- รีวิว Emirates First Class Suites ห้องส่วนตัวสุดหรูบนเครื่องบิน
- รีวิว First Class สายการบิน Korean Air แบบใหม่ล่าสุดบน Boeing 777-300ER
- พรีวิว! ที่นั่ง Business Class แบบใหม่ล่าสุดของการบินไทย บน Boeing 787-9
- รีวิว Prestige Suites ที่นั่ง Business Class แบบใหม่บนสายการบิน Korean Air
- การบินไทย มีที่นั่ง Business Class แบบไหนบ้าง? + วิธีจองให้ได้ที่นั่งแบบใหม่
- รีวิว ScootBiz สายการบิน NokScoot เส้นทางดอนเมือง-ไทเป ที่นั่งกว้าง ราคาเบา
- รีวิว First Class แบบใหม่ของ Singapore Airlines – Boeing 777-300ER
- รีวิว “The Private Room” โคตรเลานจ์ของสนามบิน Singapore Changi
- รีวิวไฟลต์สุดน่ารัก เครื่องบิน “Gudetama” ไข่ขี้เกียจ ลำเดียวในโลก
- รีวิว การบินไทย Royal Silk Class บน Airbus A350-900 XWB รุ่นล่าสุด
- รีวิว Etihad ‘Business Studio’ ชั้นธุรกิจที่ไม่มีความทัดเทียม (B77W/A380)
- รีวิว United Polaris Business Class ชั้นธุรกิจรูปแบบใหม่ของ UA
- รีวิว First Class สายการบิน ANA สุดยอดความหรูหราแบบญี่ปุ่น
- รีวิว First Class Suite สายการบิน Asiana หรู เนี๊ยบ สไตล์เกาหลี
- รีวิว Business Class บน A380 สายการบิน Emirates
- รีวิว ชั้น Smile Plus (ชั้นประหยัดพรีเมียม) สายการบินไทยสมายล์
- รีวิว Lufthansa Business Class บน Boeing 747-8I
- รีวิว Etihad First Class “Apartment” ที่สุดของการเดินทางในชั้นเฟิร์สคลาส
- เจาะลึก การบินไทย Boeing 787-8 Dreamliner เครื่องบินที่ไฮเทคที่สุดในฝูงบินปัจจุบัน
- รีวิว Business Class บน Airbus A380 สายการบิน Singapore Airlines
- รีวิว Business Class สายการบิน ANA เส้นทางโตเกียว-ซานฟรานฯ (Boeing 777-300ER)
- รีวิว Royal Silk Class บนการบินไทย Boeing 787 Dreamliner
- รีวิว United Business First Class บน Boeing 787-8 Dreamliner
- รีวิว Business Class สายการบิน ANA เส้นทางกรุงเทพ-โตเกียว (Boeing 777-200ER)
- รีวิว การบินไทย ชั้นธุรกิจ Royal Silk Class ใหม่ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการบินไทย
- รีวิว Business Class สายการบิน Austrian เส้นทางกรุงเทพ-เวียนนา
- รีวิว การบินไทย Royal First Class เส้นทางกรุงเทพ-แฟรงก์เฟิร์ต
- รีวิว Royal Laurel Class สายการบิน EVA Air เส้นทางไทเป-ซานฟรานซิสโก
- รีวิว เครื่องบินที่มุ้งมิ้งกระดิ่งแมวที่สุดในโลก Hello Kitty Jet
- รีวิว Royal First Class บนการบินไทย Airbus A380 เส้นทางกรุงเทพ-โตเกียว