คู่มือ (และมารยาท) การฝากซื้อของ จากเพื่อนที่ไปต่างประเทศ

โดนกันมาทุกคนแล้วใช่มั้ยครับ ไปเมืองนอกแล้วเพื่อนฝากซื้อของ … ทั้งฝากแบบมารยาทดี และฝากแบบไม่มีมารยาท จะซื้อก็วุ่นวาย จะไม่ซื้อก็อาจจะผิดใจกันได้ ปฏิเสธก็ยาก คนฝากก็ไม่มีความเกรงใจใดๆ กันเลย … บล็อกวันนี้ มาคุยกันเรื่องนี้ครับ

มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ครับ กับการฝากเพื่อนซื้อของจากต่างประเทศ เพราะของบางอย่าง ก็ถูกกว่าบ้านเราเยอะ หรือของหลายอย่าง ก็ไม่มีขายในบ้านเรา เห็นเพื่อนไปเที่ยวทั้งที จะฝากเพื่อนซื้อของกลับมา ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ใช่มั้ยครับ แต่นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้ระลึกถึงอยู่เสมอ ถ้าจะฝากใครซื้อของจากเมืองนอกครับ

1. ต้องมั่นใจมากๆๆๆ ว่าเราสนิทกับเขาพอ

อันนี้เป็นกฎเหล็กข้อแรก และถ้าจะเลือกเพียงข้อเดียว ก็จะเหลือแค่ข้อนี้เลยครับ การฝากซื้อของจากเพื่อนที่ไปเมืองนอก ขอให้เรามั่นใจให้ได้ก่อนนะครับ ว่าเราสนิทกับเค้ามากพอที่จะไปฝากเค้าซื้อของกลับมา

ต้องบอกก่อนว่า การซื้อของให้ใครสักคน จากทริปต่างประเทศ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ไม่ใช่ของที่เพื่อนฝากซื้อ จะมากองขายอยู่หน้าโรงแรม และไม่ใช่ของทุกชิ้นที่เราจะรู้จักมันดี ว่าต้องไปซื้อที่ไหน ซอยไหน ตึกไหน ชั้นไหน กว่าจะเดินทางไป กว่าจะเดินหา กว่าจะเจอ กว่าจะสื่อสารได้ว่าซื้อไม่ผิดรุ่น ราคาเป็นไปตามที่คุณเพื่อนต้องการ … มันใช้ความสนิทครับ ถ้าไม่สนิท อย่าฝากใครซื้อของเลย เชื่อผมเถอะ

ป.ล. คุณคิดว่าคุณสนิทกับเค้า เค้าอาจจะไม่ได้สนิทกับคุณก็ได้นะ

2. ระลึกเสมอ เค้าไปธุระของเค้า เค้าไม่ได้ไปเมืองนอกเพื่อซื้อของมาให้เรา

อันนี้สำคัญครับ สนิทกันแล้ว ฝากซื้อแล้ว อย่าคาดหวังว่าเพื่อนจะซื้อของกลับมาให้เราได้ 100% นะครับ คนที่เดินทางไปธุระต่างประเทศหรือแม้กระทั่งไปเที่ยวก็ตาม ต่างมีเวลาจำกัดครับ ทุกคนที่เดินทางก็อยากจะใช้เวลาในต่างแดนให้คุ้มค่าทั้งสิ้น ของที่เราฝากซื้อ อาจไม่ได้อยู่ในเส้นทางตามตารางเดินทางของเค้า อาจต้องนั่งรถอ้อมไปอีกด้านของเมือง อาจต้องเสียเวลาเยอะ ซึ่งนั่นแปลว่า เค้าอาจจะไม่มีโอกาสได้ซื้อของกลับมาให้เราก็ได้

การไปคาดหวัง 100% หรือไปจู้จี้ให้ซื้อของกลับมาให้เราให้ได้ อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก และไม่ใช่มารยาทที่ดีนัก เราให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นในการซื้อของไปก็พอครับ (ชื่อร้าน พิกัด ชื่อสินค้า รูปสินค้า ราคา) ถ้าเค้าอยากจะซื้อกลับมาให้ เค้าก็จะซื้อมาให้ครับ

3. การรับฝากซื้อของมาให้ ถือเป็นน้ำใจ ไม่ใช่หน้าที่

อย่างที่บอกไปครับ การซื้อของจากเมืองนอกตามคำฝาก ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะต้องเดินทาง เดินหา ถือของ แพ็กของ ระมัดระวังไม่ให้เสียหาย มีน้ำหนักกระเป๋าที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ ถือเป็นน้ำใจที่ผู้รับฝาก ต้องการที่จะให้กับผู้ฝาก ด้วยความที่เป็นเพื่อนสนิทกัน หรือเป็นคนที่สามารถรบกวนกันได้ ดังนั้น ผู้ฝากซื้อ ควรที่จะแสดงการตอบรับน้ำใจนี้เล็กๆ น้อยๆ บ้างเช่นกันครับ จะเป็นในรูปแบบไหน ก็อาจจะต้องลองพิจารณากันตามแต่ความสนิทนะ

4. ให้เงื่อนไขการซื้อตั้งแต่แรก

คนฝากควรให้เงื่อนไขในการซื้อให้ครบถ้วน เพราะแต่ละประเทศมีไทม์โซนที่แตกต่างกัน (โดยเฉพาะอเมริกา) ตอนเราอยู่ที่ร้านแล้ว ที่ไทยอาจจะตีสาม ส่งไปถามก็ไม่ตอบแล้ว ดังนั้น ถ้าให้เงื่อนไขไปเลยตั้งแต่แรก ก็จะสะดวกมากครับ บอกไปเลย เอาชื่อรุ่นนี้ แนบรูปให้ไป ถ้าไม่มี ให้เอาอันนี้แทน ถ้าราคาไม่เกิน $400 ซื้อมาเลยนะ ถ้าเกินไม่เอา อะไรทำนองนี้ คนรับฝากจะชอบมาก เพราะเงื่อนไขครบถ้วน ไม่ต้องถามอะไรเพิ่มแล้ว

หรือถ้าใครสามารถนัดแนะกันได้ว่าจะไปซื้อของให้ตอนไหน คนฝากซื้อก็ควรตอบข้อความให้เร็วครับ เพราะคนเดินทางมีเวลาจำกัด ไม่มีใครอยากเสียเวลาที่ร้านค้านานๆ เพื่อมารอข้อความของเราแน่ๆ

ส่วนใครที่จะฝากซื้อ แต่ไม่รู้แม้กระทั่งจะฝากอะไรดี … อยู่เกาหลีเหรอ ฝากซื้ออะไรดีนะ… พวกนี้ไปไกลๆ เลยค้าบ

5. จ่ายเงินค่าสินค้าอย่างไร บัตรเครดิต หรือ เงินสด

คุยกันก่อน ว่าจะชำระเงินค่าสินค้ากันอย่างไร โดยปกติผมจะใช้บัตรเครดิตในการรูดจ่ายค่าสินค้าไปก่อน และมาเก็บเงินจากคนฝากซื้อ ด้วยอัตราเงินไทย ที่ธนาคารคิดเงินมาในสเตทเมนต์บัตรเครดิตครับ วิธีนี้แม่นยำที่สุด แต่ถ้าใครไม่ได้ใช้บัตรเครดิต คนฝากซื้อควรฝากเงินไปให้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง เพราะคนเดินทางก็มักจะแลกเงินในจำนวนที่พอเหมาะกับทริปของเค้า ไม่ได้แลกเผื่อเพื่อนจะฝากซื้อของหรอกครับ จ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศก็สะดวกดี ไม่ต้องมาเถียงกันทีหลังว่าจะคูณเป็นเงินไทยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนร้านไหน หรืออัตราแลกเปลี่ยน ณ วันไหนกันอีก

หากเป็นกรณีแรก ที่เป็นค่าเงินที่คำนวนจากบัตรเครดิต (ที่มักจะมีเศษสตางค์) ผมแนะนำว่าคนฝากซื้อควรแสดงน้ำใจด้วยการปัดเศษขึ้น จะปัดขึ้นที่หลักสิบ หรือ หลักร้อย ก็แล้วแต่น้ำใจนะครับ การฝากซื้อของ มันไม่ได้มีต้นทุนแค่ค่าสินค้า แต่อาจมีค่าเดินทาง และค่าเสียเวลารวมในนั้น แม้ว่าคนซื้อมาให้จะไม่ได้คาดหวังส่วนนี้ เพราะเป็นน้ำใจที่มีให้กัน แต่การปัดเศษตอนโอนเงินให้ มักจะเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กันเสมอครับ

6. อย่าคาดหวัง Tax Refund

อันนี้สำคัญเช่นกันครับ บางประเทศมี VAT ค่อนข้างสูงรวมอยู่ในค่าสินค้า แต่ต้องไม่ลืมว่า การทำ Tax Refund นั้นมีขั้นตอนที่วุ่นวายพอสมควร มีคิวยาวมากที่ต้องต่อแถวที่สนามบิน และต้องเผื่อเวลาไปสนามบินล่วงหน้าอีก โอกาสที่คนซื้อของจะต่อคิวไม่ทันก็มีอยู่บ้าง ภาระเรื่อง Tax หากไม่สามารถทำ Tax Refund ได้นั้น จึงเป็นของผู้ฝากซื้อนะครับ ไม่สามารถไปบังคับคนซื้อของให้รับผิดชอบส่วนนี้ได้ เพราะมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเค้าเลย

7. ศุลกากร

กรณีที่ฝากซื้อของที่มีมูลค่ามาก เวลาเดินทางกลับเข้าประเทศ ผู้เดินทางก็มีโอกาสที่จะโดนศุลกากรสุ่มตรวจและปรับได้ครับ ตกลงกันก่อนให้ชัดเจน ว่าถ้าโดนศุลกากรเรียกปรับภาษีนั้น ผู้ฝากซื้อต้องรับผิดชอบนะครับ ส่วนผู้รับฝากมา ก็ซวยไม่น้อย เพราะจะมีประวัติการหลบเลี่ยงภาษีติดตัวด้วย ดังนั้น คิดให้ดี ตกลงกันให้ดี ก่อนที่จะรับฝากซื้อของที่มีมูลค่าสูงๆ ครับ

8. ของเสียหาย? ใครรับผิดชอบ?

เรื่องที่ต้องเคลียร์กันอีกเรื่อง คือหากของที่หิ้วกลับมาเกิดความเสียหาย เช่น เสียมาแต่แรก หรือเสียหายขณะเดินทาง เช่นกระเป๋าโดนกระแทก ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? โดยปกติแล้ว ควรตกลงกันว่า ผู้ฝากซื้อเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงส่วนนี้นะครับ และไม่ใช่ความผิดอะไรของคนรับฝากซื้อเลย รวมถึงการรับประกันของสินค้า ที่ส่วนมากมักจะไม่ใช่ประกันแบบ worldwide อันนี้ ผู้ฝากซื้อก็ต้องรับความเสี่ยงเช่นเดียวกันครับ

9. ของถึงไทยแล้ว นัดรับของอย่างไรดี?

คนฝากซื้อ นอกจากต้องจ่ายเงินให้เร็วแล้ว ยังควรนัดรับของให้เร็วด้วยครับ หาทางไปรับของด้วยตัวเอง หรือใช้ messenger ก็ได้ อย่าให้คนที่เราฝากซื้อต้องเก็บรักษาของไว้นาน เกะกะบ้านเค้า และ ไม่ควรให้คนรับฝากต้องเดินทางมาส่งของให้เราอีก หาทางไปรับถึงที่หรือให้เค้าเดินทางน้อยที่สุดนะครับ

ผมเคยเจอกรณีที่เราซื้อของกลับมาให้แล้ว ไม่มารับเสียที มัวแต่ถามว่าเมื่อไหร่ผมจะมีผ่านไปแถวที่ทำงานเค้าบ้าง ติดของมาให้ด้วยนะ …

จะฝากใครซื้อของ ก็มารยาทนิดนึงนะครับ

10. วิธีฝากซื้อที่ผมชอบที่สุด

วิธีการฝากซื้อของ ที่ผมชอบที่สุด คือการขอที่อยู่โรงแรมไป และไปช้อปปิ้งออนไลน์เอาเอง คนฝากซื้อก็มั่นใจ ว่าได้ของที่ตัวเองต้องการ ถูกรุ่น ไม่มีข้อผิดพลาด ได้ราคาที่ตัวเองต้องการ ส่วนคนรับฝาก ก็ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเดินหา แค่ติดต่อกับโรงแรมเพื่อรับของก็พอ ไม่ต้องเคลียร์เงินค่าสินค้ากัน ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนใดๆ แพ็กกลับไทยมาให้เพื่อนอย่างเดียว

วิธีนี้ มีข้อควรระวัง 3 เรื่อง คือ เช็คขนาดกับน้ำหนักสินค้าล่วงหน้ากันให้ดี, เช็ควันส่งสินค้าให้พอดีกับช่วงที่เดินทาง สามารถให้ของมาส่งถึงโรงแรมก่อนวันเช็คอินได้ แต่มาถึงหลังจากเช็คเอาท์ไม่ได้นะครับ และ บางโรงแรมอาจมีค่ารับของ ที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม โดยส่วนมากจะคิดเป็นราคาต่อกล่องครับ สามารถหารายละเอียดได้จากหน้าเว็บของโรงแรม หรืออีเมลสอบถามโรงแรมได้ล่วงหน้า

ผมเองเวลาเดินทางไปประเทศไหนก็ตามและมีของที่อยากได้เอง ก็มักจะสั่งมาให้ส่งที่โรงแรมเช่นกันครับ เพราะสะดวกกว่าไปเดินหาซื้อเองค่อนข้างมาก ค่ารับของที่โรงแรมอาจคิดเพิ่ม ส่วนมากก็มักจะถูกกว่าค่ารถค่าเดินทางอยู่แล้ว ผมจึงอยากแนะนำวิธีนี้ เพื่อลดความยุ่งยากในการซื้อของที่ต่างประเทศลง

สรุป

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ครับ “ไม่สนิท อย่าฝากซื้อของ”

บทความโดย:
อู๋ spin9

รับฟังบทความนี้แบบ Podcast: https://www.podbean.com/media/share/pb-qjsmr-ac9c3e

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save