สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน Thailand Tech Show 2024 ซึ่งเป็นประจำทุกทีที่ สวทช. จะจัดงานเสวนาและนำผู้ประกอบการมาพบกับนักวิจัย ให้ผลงานของนักวิจัยที่เคยทดสอบอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไปใช้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้จริง
โดยไฮไลต์สำคัญของงานในปีนี้คือ การคาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีผลกับเราในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช.
งานนี้ผมได้รับเกียรติเป็นพิธีกรในงานด้วย จึงขอสรุป 10 เทรนด์จากหัวข้อบรรยายมาให้อ่านกันครับ
- กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle)
กล้ามเนื้อเทียมหรือกล้ามเนื้อจำลอง (artificial muscle) สามารถยืด หด ขยายหรือหมุน เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าจากกระแสไฟฟ้า ความดัน หรืออุณหภูมิ
กล้ามเนื้อเทียม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว และมีการพัฒนาให้เคลื่อนไหวได้เหมือนจริงมากขึ้น และจะยิ่งมีความสำคัญในสังคมสูงอายุ ทุกวันนี้มีความต้องการกล้ามเนื้อเทียมไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ การสร้างหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงคน มูลค่าตลาดกล้ามเนื้อเทียมคาดว่าจะถึง 5,360 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2031
- จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)
ลำไส้ไม่ดีเป็นที่มาของโรคมากมาย ตอนนี้เรามีทางเลือกอาหารพรีไบโอติกและโพรไบโอติกให้ลำไส้มีสุขภาพดี เทคโนโลยีใหม่ที่เราจะได้เห็นคือ ซินไบโอติก เป็นการรวมความสามารถพรีไบโอติกและโพรไบโอติกเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยีคัดเลือกและตัดต่อสายพันธุ์
ในอนาคตเราอาจออกแบบวงจรยีนทำให้เซลล์จุลินทรีย์จำเพาะบางชนิด ทำหน้าที่ตรวจสอบสารแปลกปลอม เสริมฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนการเกิดโรค และรักษาโรค
- แฝดดิจิทัล (Digital Twin)
Digital Twin เป็นเทรนด์ที่ได้ยินมานานแล้ว แต่แฝดดิจิทัลในที่นี้ เป็นแฝดเพื่อการดูแลสุขภาพ(Digital Twin in Healthcare) โดยเราสร้างแฝดผ่านข้อมูลสุขภาพที่อยู่บนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะมาจากนาฬิกา แหวน เซนเซอร์ต่างๆ กลายเป็น “ฐานข้อมูลดิจิทัล” ที่สามารถวิเคราะห์การตรวจรักษาได้แม่นยำมากขึ้น
มีบางบริษัทในต่างประเทศเริ่มเทรนด์นี้แล้ว เช่น บริษัท Twin Health พัฒนา Digital Twin Platform สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน บริษัท Q Bio พัฒนาเครื่อง MRI ที่สแกนผู้ป่วยได้ทั้งตัว และนำไปจำลองแฝดดิจิทัล บริษัท Mesh Bio พัฒนาระบบ HealthVector® Diabetes ทำนายความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้แบบจำลอง AI ที่ประมวลผลจากข้อมูลประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ของผู้ป่วย
- การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ AI เสริม (Al-Augmented Software Development)
ในอนาคตอันใกล้ AI จะไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของการใช้งาน แต่ AI จะมาเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียน และพัฒนาโปรแกรมเองตามความต้องการของผู้ใช้
ตอนนี้ AI สามารถแปลงภาษาเป็นโค้ด สร้างและแปลโค้ดให้ใช้กับภาษาสมัยใหม่ได้ ไปจนถึงสร้างอัลกอริทึม เสนอการตัดสินใจ ออกแบบชุดความรู้และการพัฒนาให้เหมาะกับรายคนได้เลย ประโยชน์คือช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ดันซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ซึ่งภายในปี 2028 วิศวกรจะใช้ AI ช่วยเขียนโค้ดเพิ่มขึ้น 75%
- อุปกรณ์สวมใส่ติด AI (AI Wearable Technology)
ต่อไปอุปกรณ์สวมใส่จะไม่ถูกจำกัดแค่สมาร์ทวอทช์เท่านั้น ตอนนี้ในตลาดเราเริ่มเห็นแหวนอัจฉริยะแล้ว ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ เสื้ออัจฉริยะ แจ็กเก็ตอัจฉริยะ และแม้แต่พวงกุญแจอัจฉริยะ รองรับความต้องการที่มากกว่าแค่นับก้าวออกกำลังกาย แต่ยังตรวจจับความผิดปกติภายในร่างกายได้ลึกกว่า และแม่นยำมากขึ้นด้วย
- เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhacning Technologies : PETs)
การส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT ไปประมวลผลคลาวด์ แม้มีการเข้ารหัสข้อมูล แต่เมื่อไปถึงคลาวด์ ก็ต้องถอดรหัสเพื่อนำข้อมูลนั้นมาประมวลผล เป็นช่องโหว่ให้ข้อมูลรั่วไหลได้หากคลาวด์โดนแฮ็ก ซึ่งเทคโนโลยี PETs คือการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้โดยไม่ต้องถอดรหัส รักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ตั้งแต่ต้นน้ำ
- หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot)
การรักษาความปลอดภัยด้วยคน ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เกินคนจะตรวจตราไหว พื้นที่เสี่ยงอันตราย การใช้หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา
จุดเด่นคือสามารถทำงานต่อเนื่อง ไม่เหนื่อย ไม่แคร์สภาพแวดล้อม วิเคราะห์เหตุภัยได้แม่นยำ ไม่ชะล่าใจอย่างที่บางทีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในคน แม้การลงทุนต้องมาพร้อมต้นทุนสูง แต่คุ้มในระยะยาว
- เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)
จริงอยู่ที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคือคำตอบของทางเลือกพลังงานสะอาดในรถอีวี แต่การรีไซเคิลแบตเตอรี่นั้นไม่ง่าย ใช้ความร้อนสูง และใช้สารเคมีที่เป็นพิษ
เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คือ การรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง โดยเริ่มต้นจากการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สามารถถอดแยกสารได้นำมาร่อน ตัด ย่อย บด และคัดแยกนำสารเพื่อนำกลับมาใช้สร้างเป็นขั้วแคโทด (cathode) ของแบตเตอรี่ขึ้นใหม่ได้ ประเมินกันว่าเทคโนโลยีนี้อาจนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90%
ตอนนี้ยังไม่มีธุรกิจนี้ในตลาด ซึ่งจะเป็นโอกาสในอนาคต ข้อจำกัดคือราคาแพง แต่เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
- ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)
ไทยมีชีวมวล มูลสัตว์ น้ำเสียเยอะ ของพวกนี้สามารถนำมาผ่านกระบวนการใหม่เพื่อผลิตไฮโดรเจนใช้งานในรถได้ เป็นอีกทางเลือกนอกจากรถอีวี
ความเคลื่อนไหวเรื่องรถไฮโดรเจนกเกิดขึ้นในไทยด้วย โดย PTT–OR–Toyota–BIG เปิดสถานีเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ส่วน Toyota ประกาศจะใช้รถยนต์ Mirai 500 คัน รับส่งนักกีฬาในโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีส
- การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Next Generation of Recirculating Aquaculture System หรือ RAS)
RAS คือการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ ใช้ระบบหมุนเวียนน้ำแทน โดยระหว่างหมุนเวียนก็ฟื้นฟูน้ำเสียด้วยการเติมออกซิเจน ลดความเสี่ยงโรคสัตว์น้ำ เลี้ยงได้ในพื้นที่น้อย บริษัทเลี้ยงกุ้งในภาคใต้เริ่มนำระบบ RAS มาใช้ ข้อจำกัดคือต้องดูแลระบบการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพราะระบบจะล่มไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
คนทั่วไปหรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากเฟ้นหาเทคโนโลยี และงานวิจัยใหม่ๆ สามารถเข้าร่วมงาน Thailand Tech Show 2024 ได้ฟรี ที่ชั้น G Hall 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ภายในงานจะได้เห็นการออกบูธ และ pitching จากสตาร์ทอัพด้วย น่าสนใจอย่างมากครับ
ดูไลฟ์บรรยาย 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1UbZySTaQv7jdAoX/ หรืออ่านเนื้อหาฉบับเต็มจากเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/home/news_post/10-technologies-to-watch-2024/