เชื่อว่าหลายคนที่วางแผนจะไปโตเกียว คงจะมีคำถามว่าไปลงสนามบินไหนดี? เพราะจากเมืองไทยมีเที่ยวบินตรงไปถึงโตเกียวทั้ง 2 สนามบิน คือสนามบินนาริตะ (NRT) และสนามบินฮะเนะดะ (HND) แถมส่วนมากยังเปิดราคาเท่าๆ กันอีกด้วย เรามาดูข้อแตกต่างกันครับ จะได้เลือกได้เหมาะสมกับการเดินทางของเรา
ด้วยความที่โตเกียวเป็นเมืองใหญ่ มีเที่ยวบินจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมากทุกวัน จึงจำเป็นต้องมีสนามบินใหญ่เอาไว้รองรับเที่ยวบินของสายการบินพาณิชย์มากถึง 2 สนามบิน โดยสถิติในปี 2013 ระบุว่า โตเกียวเป็นเมืองที่มีปริมาณผู้โดยสารของสนามบินมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากลอนดอน และ นิวยอร์กเลยทีเดียว
ไปรู้จักกับทั้ง 2 สนามบินกันครับ
Haneda Airport (HND)
สนามบินฮะเนะดะ (HND) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว / Tokyo International Airport เป็นสนามบินเก่าแก่ของโตเกียวที่เปิดใช้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (ราวๆ ปี 1930) และถูกใช้เป็นสนามบินหลักของโตเกียวมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 1978 ที่มีการเปิดท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวแห่งใหม่ (นาริตะ) ทำให้สนามบินฮะเนะดะถูกใช้เป็นสนามบินหลักของเที่ยวบินภายในประเทศของญี่ปุ่น และได้ขยายมาใช้กับเที่ยวบินระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแบ่งเบาปริมาณผู้โดยสารจากสนามบินนาริตะ
สถิติในปี 2013 ระบุว่าสนามบินฮะเนะดะ เป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสารมากถึง 68.9 ล้านคน มากเป็นอันดับสองของทวีปเอเชียรองจากสนามบินปักกิ่ง (PEK) และสถิติที่น่าสนใจคือ สนามบินฮะเนะดะได้รับรางวัลสนามบินที่มีเที่ยวบินที่ตรงเวลาที่สุดในโลกถึงสองปีซ้อน (ขาออกตรงเวลา 94.3% และขาเข้าตรงเวลา 88.6%)
สนามบินฮะเนะดะแบ่งออกเป็น 3 เทอร์มินัล คือ Terminal 1 (ภายในประเทศเท่านั้น), Terminal 2 (ภายในประเทศเท่านั้น) และ International Terminal (เที่ยวบินระหว่างประเทศ) ซึ่งในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะ International Terminal (หรือบางสายการบินอาจเรียกว่า Terminal I – เทอร์มินัล ไอ) นะครับ
เที่ยวบินตรงจากกรุงเทพมหานคร ถึง สนามบินฮะเนะดะ ประกอบไปด้วยเที่ยวบินจากสายการบิน All Nippon Airways (ANA), Japan Airlines (JAL), และการบินไทย (THAI)
สนามบินฮะเนะดะ อยู่ห่างจากใจกลางเมืองโตเกียว (นับจากสถานี Tokyo Station) 14 กิโลเมตร นับว่าใกล้ตัวเมืองมากกว่าสนามบินนาริตะมาก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองโตเกียวถูกกว่าค่อนข้างมาก
การเดินทางเข้าเมืองโตเกียวจากสนามบินฮะเนะดะ
การเดินทางด้วยราง มี 2 วิธีครับ
1) รถไฟสายเคคิว (Keikyu) รถไฟเดินทางตรงถึงสถานีชินะงะวะ (Shinagawa Station) ด้วยเวลาเร็วสุดเพียง 12 นาทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ ค่าตั๋วถูกมาก แค่ ¥410 ต่อเที่ยว มีรถออกค่อนข้างถี่ (ทุกๆ 5-7 นาที) หรือบางช่วงอาจนานถึง 10-20 นาที เมื่อเข้ามาถึงสถานี Shinagawa ก็สามารถเปลี่ยนรถไปต่อสถานีสำคัญๆ รอบโตเกียวได้ผ่านรถไฟ JR East และ JR Central รถไฟเที่ยวสุดท้ายออกจากสนามบินฮะเนะดะเวลาประมาณเที่ยงคืน
2) รถโมโนเรล (Tokyo Monorail) ตรงถึงสถานีฮะมะมัทสึโจ (Hamamatsuchō Station) โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถใช้เวลาประมาณ 13-18 นาที (ขึ้นอยู่กับรถเที่ยวนั้นๆ ว่าจอดกี่ป้าย) รถบางเที่ยวอาจจอดหลายป้าย หรือ บางเที่ยวที่ระบุว่า Haneda Express ก็จะวิ่งตรงถึงสถานีฮะมะมัทสึโจเลยโดยไม่แวะสถานีอื่นๆ มีรถออกทุก 4 นาที (อาจนานกว่าถ้าเช้ามากหรือดึกมาก) ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ ¥490 ต่อเที่ยว และจากสถานีฮามะมัทสึโจ สามารถต่อรถไฟ JR สาย Yamanote ไปยังสถานีหลักๆ อื่นๆ รอบโตเกียวได้เลย ถือเป็นการเดินทางเข้าเมืองที่สะดวกมากที่สุดอีกวิธีหนึ่ง รถไฟเที่ยวสุดท้ายออกจากสนามบินฮะเนะดะเวลาประมาณเที่ยงคืนเช่นกัน
การเดินทางด้วยรถ
1) รถบัส หรือ Airport Limosine Bus มีรถบัสหลากหลายบริษัทและหลากหลายปลายทางให้เลือกใช้บริการที่สนามบินฮะเนะดะ ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง ซึ่งราคาจะสูงกว่าการเดินทางด้วยราง แต่จะได้รับความสะดวกในเรื่องสัมภาระ ในกรณีที่มีกระเป๋าจำนวนมาก เพราะรถบัสจะส่งถึงโรงแรมใหญ่ๆ และสถานีรถไฟใหญ่ๆ เกือบทั้งหมด หรือใกล้โรงแรมมากโดยไม่ต้องต่อรถอีก มีสองวิธีในการซื้อคือซื้อตั๋วผ่านตู้ขายอัตโนมัติใกล้กับจุดขึ้นรถบัสที่ชั้น 1 ของสนามบิน เลือกปลายทาง และตู้จะบอกว่ารถบัสของเราจะออกจากแพลทฟอร์มไหน กับอีกวิธีคือ ซื้อที่เคาน์เตอร์ Bus Tickets Counter บริเวณซ้ายมือหลังจากเดินออกจากด่านศุลกากรที่ชั้น 2 ของสนามบินฮะเนะดะ ราคาสำหรับปลายทางในโตเกียวอยู่ที่ประมาณ ¥900-1500 ต่อเที่ยว และมีตั๋วโปรโมชั่นคือ Bus+Metro Pass ในราคาพิเศษ เวลาทำการคือ 5:30 – 00:30 น.
2) แท็กซี่ ถึงแม้ว่าการเดินทางด้วยแท็กซีในญี่ปุ่นโดยปกติแล้วจะค่อนข้างแพงมาก แต่ในกรณีที่เราตกรถไฟเที่ยวสุดท้าย หรือกรณีที่ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องลากกระเป๋าไปต่อรถหลายต่อ ก็เป็นตัวเลือกที่พอรับได้สหรับสนามบินฮะเนะดะครับ เพราะสนามบินไม่ไกลตัวเมืองมากจนเกินไป ราคาค่าโดยสารคร่าวๆ จากสนามบินฮะเนะดะถึงสถานีชิบูย่า อยู่ที่ประมาณ ¥6,700 ซึ่งถ้าเดินทางพร้อมกัน 3-4 คน หารออกมาก็พอรับได้นะครับ
ข้อดีของสนามบินฮะเนะดะ
– ใกล้ตัวเมือง ค่าเดินทางถูก ใช้ระยะเวลาเดินทางเข้าเมืองน้อย
– สนามบินไม่ใหญ่เท่านาริตะ ไม่ต้องเดินไกลมาก
– สะดวกในการต่อเที่ยวบินไปยังเที่ยวบินภายในญี่ปุ่น หากต้องเดินทางต่อเครื่อง
ข้อเสีย
– ช่อง ตม.มักมีจำนวนไม่เพียงพอต่อเที่ยวบินบางช่วงเวลา ต้องรอคิวค่อนข้างนาน
– ร้านค้า Duty Free มีจำนวนน้อยกว่าสนามบินนาริตะค่อนข้างมาก
– ข้อจำกัดของสนามบินฮะเนะดะ คือไม่รองรับเครื่องบิน Airbus A380 สำหรับเที่ยวบินกลางวัน เพราะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินอื่นๆ ที่ต้องเว้นช่วงสำหรับ Wake Turbulence เพื่อความปลอดภัย ทำให้หลายสายการบินใช้ A380 ไปลงที่สนามบินนาริตะแทน
Narita Airport (NRT)
สนามบินนาริตะ (NRT) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ท่าอากาศยานนานาชาตินะริตะ / Narita International Airport เปิดทำการในปี 1978 เพื่อรองรับกับความต้องการของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยตอนเปิดทำการ ได้ย้ายเอาเที่ยวบินระหว่างประเทศจากสนามบินฮะเนะดะมาทำการที่สนามบินนาริตะทั้งหมด (เช่นเดียวกับตอนที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้เพิ่มเติมจากสนามบินดอนเมืองในบ้านเรา) แต่สุดท้ายปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้น จนสนามบินฮะเนะดะต้องเปิด International Air Terminal มารับกับเที่ยวบินระหว่างประเทศอยู่ดี
ปัจจุบันสนามบินนาริตะ เป็นสนามบินที่รับจำนวนผู้โดยสารมากเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น (รองจากสนามบินฮะเนะดะ) และเป็นสนามบินที่รับปริมาณคาร์โก้ (Air Freight) มากที่สุดในญี่ปุ่น รวมถึงเป็นสนามบินที่มีปริมาณคาร์โก้สูงเป็นอันดับสิบของโลกด้วย
สนามบินนาริตะ แบ่งออกเป็น 2 เทอร์มินัล คือ Terminal 1 (North Wing + South Wing) และ Terminal 2
Terminal 1 (North Wing) ปัจจุบันรองรับสายการบินในกลุ่มพันธมิตร SkyTeam ทั้งหมด บวกกับสายการบิน Virgin Atlantic และสายการบิน Aircalin ซึ่งเป็นเพียง 2 สายการบินที่ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตร SkyTeam ในเทอร์มินัลนี้
Terminal 1 (South Wing) ปัจจุบันรองรับสายการบินในกลุ่มพันธมิตร Star Alliance ทั้งหมด (รวมถึงการบินไทย และ ANA) บวกกับสายการบินที่ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตร Star Alliance อีกเล็กน้อยคือ สายการบิน MIAT, Uzbekistan Airways, และ Etihad Airways
Terminal 2 เป็นของสายการบินในกลุ่มพันธมิตร Oneworld และสายการบินอื่นๆ ทั้งหมด (รวมถึง Thai AirAsia X และ Japan Airlines)
เที่ยวบินตรงจากกรุงเทพมหานคร ถึง สนามบินนาริตะ ประกอบไปด้วยเที่ยวบินจากสายการบิน All Nippon Airways (ANA), Asia Atlantic Airlines, Delta Airlines, Japan Airlines (JAL), Jet Asia Airways, การบินไทย (THAI) และ Thai AirAsia X
สนามบินนาริตะ ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดโตเกียว แต่ว่าตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชิบะ (Chiba) เฉกเช่นเดียวกับที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้อยู่กรุงเทพ แต่ว่าอยู่สมุทรปราการนั่นแหละครับ สนามบินนาริตะอยู่ห่างจากใจกลางเมืองโตเกียว (นับจากสถานี Tokyo Station) 57.5 กิโลเมตร ถือว่าไกลจากตัวเมืองโตเกียวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสนามบินฮะเนะดะ การเดินทางจึงใช้เวลามากกว่า และแพงกว่าสนามบินฮะเนะดะพอสมควร แต่ก็จะได้รับความสะดวกในแง่ของเที่ยวบินที่มีตัวเลือกมากกว่า ความถี่ที่สูงกว่า และความสะดวกสบายที่สนามบินที่มีมากกว่าครับ
การเดินทางเข้าเมืองโตเกียวจากสนามบินนาริตะ
การเดินทางด้วยราง มีด้วยกัน 3 แบบครับ
1) Narita Express หรือที่ชอบเรียกย่อกันว่า N’EX รถไฟด่วนไปลงสถานีหลักๆ ในเมืองโตเกียวได้หลากหลายสถานี ไม่ว่าจะเป็นสถานีโตเกียว (59 นาที), Shinagawa (70 นาที), Shibuya (78 นาที), Shinjuku (83 นาที), Ikebukuro (90 นาที) รถไฟมีความสะดวกสบาย มีที่วางกระเป๋าใหญ่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย มีที่นั่งสองแบบคือที่นั่งปกติ และที่นั่ง First Class ราคาตั๋วที่นั่งปกติถึงสถานีโตเกียวอยู่ที่ประมาณ ¥3,020 (อาจถูกลงหรือแพงขึ้นกว่านี้ตามฤดูกาล) ตั๋วทุกใบต้องซื้อและสำรองหมายเลขที่นั่งก่อนขึ้นรถไฟ หากที่นั่งรอบนั้นๆ เต็มแล้ว จะมีตั๋วยืนขายในราคาที่ถูกกว่าตั๋วที่นั่งปกติใบละ ¥520 (เหลือประมาณใบละ ¥2,500) ซื้อตั๋วและสำรองเลขที่นั่งได้ที่เคาน์เตอร์ JR Ticket ในสนามบินนาริตะ เที่ยวแรกสุดออกเวลาประมาณ 7:30 น. และเที่ยวสุดท้ายออกจากสนามบินนาริตะเวลาประมาณ 21:46 น.
2) รถไฟสาย Keisei มีรถไฟหลายแบบ ทั้งรถด่วนพิเศษ (Skyliner), รถด่วนทั่วไป (Access Express) และรถไฟธรรมดาแบบจอดหลายๆ ป้าย (Keikyu Main Line) ทั้งสามแบบมี สถานีปลายทางหลักๆ คือสถานี Nippori (นั่ง Skyliner 36 นาที / นั่ง Access Express 50 นาที) และสถานี Ueno (นั่ง Skyliner 41 นาที / นั่ง Access Express 54 นาที) ราคาตั๋ว Skyliner อยู่ที่ประมาณ ¥2,470 ต่อเที่ยว และมีโปรโมชั่นซื้อพร้อม Metro Pass ในราคาพิเศษ เที่ยวแรกสุดออกเวลาประมาณ 7:30 น. และเที่ยวสุดท้ายออกจากสนามบินนาริตะเวลาประมาณ 22:30 น.
3) รถไฟ JR สาย Sobu เป็นรถไฟ JR ปกติ จอดหลายป้าย ใช้เวลาเดินทางค่อนข้างมาก (จากสนามบินนาริตะถึงสถานีโตเกียว ใช้เวลา 90 นาที) ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ ¥1,200 ต่อเที่ยว วิธีนี้ถูกหน่อย แต่เสียเวลาค่อนข้างมากครับ
การเดินทางด้วยรถ
1) รถบัส หรือ Airport Limousine Bus เช่นเดียวกับสนามบินฮะเนะดะ มีให้บริษัทหลายบริษัท และหลายเส้นทาง ได้ความสะดวกสบายเรื่องสัมภาระ ไม่ต้องลากกระเป๋าไปเปลี่ยนรถไฟในเมือง ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินนาริตะเข้าเมืองประมาณ 1 ชั่วโมงบวกลบนิดหน่อยตามสภาพการจราจร และมีราคาค่าโดยสารต่อคนอยู่ที่ประมาณ ¥3,000
2) แท็กซี่ ไม่แนะนำในทุกกรณี เพราะสนามบินนาริตะไกลเมืองมาก และค่าโดยสารเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ ¥23,000 หรือราวๆ 6,500 บาทต่อเที่ยวครับ
ข้อดีของสนามบินนาริตะ
– มีเที่ยวบินให้เลือกเยอะมาก รวมถึงสายการบินราคาถูกเช่น Thai AirAsia X หรือ Jet Asia
– เลานจ์ของสายการบินต่างๆ มีเยอะกว่าสนามบินฮะเนะดะมาก และกว้างขวางกว่ามาก
– ร้านค้า Duty Free มีให้เลือกเยอะสุดๆ ทั้ง 2 เทอร์มินัล
ข้อเสีย
– ไกลเมืองโตเกียว ค่าเดินทางแพงกว่า และใช้เวลามากกว่า
– การต่อเครื่องไปยังเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างลำบาก (การเดินทางจากสนามบินนาริตะไปสนามบินฮะเนะดะ ใช้เวลาอย่างน้อย 65 นาทีด้วยรถบัส Airport Shuttle หรืออย่างน้อย 90 นาทีด้วยรถไฟ)
แล้วไปลงสนามบินไหนดีกว่ากัน?
ผมว่าก่อนจะดูที่สนามบิน ลองไปดูที่สายการบินก่อนครับ ตอนนี้มีเพียงสายการบิน ANA, JAL และการบินไทย เท่านั้น ที่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพไปลงทั้ง 2 สนามบินนี้ และส่วนมากราคาตั๋วจะเท่าๆ กันเสียด้วย ส่วนสายการบินอื่นๆ ส่วนมากก็จะมีไปลงนาริตะอย่างเดียว แต่ก็อาจมีราคาค่าตั๋วที่ถูกกว่า เช่น Thai AirAsia X
ปัจจัยที่ควรนำมาเลือกเที่ยวบินเดินทางไปโตเกียว มี 2 อย่างครับ คือ ราคาค่าตั๋ว กับ เวลาของเที่ยวบินว่าจะไปถึงโตเกียวกี่โมง
เที่ยวบินจากกรุงเทพไปโตเกียวยอดนิยมส่วนมาก (และมักเป็นเที่ยวบินที่บริษัททัวร์จัดมาให้) จะเป็นเที่ยวบินข้ามคืน คือออกจากไทยประมาณ 23:00 – 00:00 น. และไปถึงโตเกียวตอนเช้าตรู่ (6-7 โมงเช้า) เพราะประหยัดเวลา ประหยัดค่าโรงแรม แต่จะเหนื่อยโฮกครับ เพราะเวลาที่พอจะนอนได้บนเครื่องบินจะมีแค่ 3-4 ชั่วโมง แถมไปถึงโตเกียวแต่เช้า ต้องลุยอีกทั้งวันกว่าจะได้พักผ่อนอีกครั้ง และนี่คือตารางเที่ยวบินตรง จากกรุงเทพ (ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง) ไปยังสนามบินโตเกียวทั้งสองแห่งครับ ลองดูว่ามีเที่ยวบินไหน ของสายการบินไหน ไปถึงกี่โมงกันบ้าง
ถ้าจะฟันธงว่า ไปลงสนามบินไหนดีกว่า คงเป็นเรื่องที่ยากหน่อยครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งจุดประสงค์การเดินทาง ค่าใช้จ่าย และ ตำแหน่งที่พัก แต่ผมอยากให้ลองพิจารณาเทียบความคุ้มค่า กับระยะเวลาที่ต้องเสียไปในประเทศญี่ปุ่น ลองเผื่อเวลาการเดินทางจากสนามบินนาริตะ เข้าสู่ตัวเมือง ทั้งขาไปและขากลับ ยกตัวอย่างเช่นเที่ยวบิน TG640 ของการบินไทย จะเดินทางไปถึงสนามบินนาริตะเวลา 6:15 น. ซึ่งถ้าเดินทางคนเดียวและหวังไปพึ่งพารถไฟด่วน Skyliner จะเสียเวลามากครับ เพราะรถไฟเที่ยวแรกจะออกจากสนามบินเวลาประมาณ 7:30 น. นั่นคือคุณอาจจะเสียเวลานั่งรอรถไฟที่สนามบินนาริตะ (แบบง่วงๆ) อีกราวๆ 1 ชั่วโมงเลย ในขณะเดียวกัน ลองดูเที่ยวบิน TG660 ของการบินไทย ไปถึงสนามบินฮะเนะดะเวลา 23:30 น. ซึ่งกว่าจะผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและรับกระเป๋า ก็อาจพลาดรถไฟเที่ยวสุดท้ายได้ ซึ่งก็ต้องเผื่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าเมืองด้วยวิธีอื่นๆ เอาไว้ด้วย
ถึงแม้ว่าเที่ยวบินยอดนิยมจะเป็นเที่ยวบินข้ามคืน คือออกจากไทยตอนดึก และไปถึงโตเกียวตอนเช้า เพื่อประหยัดเวลาระหว่างวันไม่ให้หมดไปบนเครื่องบิน แถมประหยัดค่าโรงแรม 1 คืนก็ตาม เที่ยวบินที่ผมชอบกลับเป็นเที่ยวบินที่ออกจากกรุงเทพตอนเช้าและไปถึงโตเกียวช่วงบ่ายมากกว่า เพราะจะไม่เหนื่อยมากจนเกินไป และก็ไม่ได้ไปถึงโตเกียวค่ำมาก ยังพอมีเวลาให้ได้พักผ่อนก่อน และยังสามารถหลับนอนได้ในเวลาปกติอีกด้วย
ส่วนใครที่ดูเรื่องราคาเป็นหลัก อาจจะถูกใจสายการบิน Thai AirAsia X ที่ไม่มีตัวเลือกสนามบินและไม่มีตัวเลือกเที่ยวบินให้เลย คือต้องออกจากดอนเมืองเกือบเที่ยงคืน และไปถึงสนามบินนาริตะตอนเช้าเท่านั้น ก็แนะนำให้ลองหาข้อมูลของสายการบินอื่นๆ ดูเปรียบเทียบด้วย เผื่อเที่ยวบินที่ไปลงสนามบินฮะเนะดะจะมีราคาแพงกว่าเล็กน้อย แต่แลกกับความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าเมือง ค่าโดยสารที่ถุกกว่า และใช้เวลาน้อยกว่า ก็อาจจะคุ้มค่าพอๆ กันก็เป็นได้นะครับ