จากเหตุการณ์แผ่นไหววันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า การแจ้งเตือนภัยบนโทรศัพท์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเรารู้ได้ทันทีว่าเรากำลังเจอกับเหตุการณ์อะไร จะได้รับมือถูก ลดความเข้าใจผิดและลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม
ซึ่งประเทศไทย ยังไม่มีระบบแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึงเหมือนในเกาหลี ญี่ปุ่น เพราะเรายังไม่ได้เปิดใช้ระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS อย่างเป็นทางการ

ทำความเข้าใจ CBS ไม่เหมือน SMS
Cell Broadcast Service เป็นเทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยพิบัติที่เป็นมาตรฐานใช้กันทั่วโลก ตั้งระดับการเตือนได้ เตือนภัยพื้นฐานได้ ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น
Cell Broadcast สามารถส่งข้อความเตือนภัยตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบริเวณนั้น ครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ และจะแจ้งเตือนเป็นแบนเนอร์ใหญ่บนหน้าจอมือถือของเรา ในบางประเทศจะมีรูปภาพประกอบเพื่อความเข้าใจง่าย
ความแตกต่างระหว่าง CBS และ SMS คือ CBS สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังมือถือหลายล้านเครื่องภายในไม่กี่วินาที ครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องรู้เบอร์โทรศัพท์ ส่วน SMS จะส่งได้ต่อเมื่อรู้เบอร์โทรศัพท์ และไม่สามารถส่งไปหาโทรศัพท์จำนวนมากได้ในหลักนาที

ดังนั้นที่หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อโอเปอเรเตอร์ส่งข้อความโฆษณาผ่าน SMS ได้ แล้วเหตุใดถึงส่งข้อความเตือนภัยมาไม่ได้ ก็เป็นเพราะ SMS มีข้อจำกัดเรื่องการรู้เบอร์โทรศัพท์ และการต้องพึ่งพิงช่องสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้การส่ง SMS ให้คนจำนวนมากทำได้ไม่เร็วพอ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่บางคนได้รับข้อความเตือนภัย SMS ในวันเกิดแผ่นดินไหว แต่อีกหลายคนไม่ได้รับ
ระบบเตือนภัย Cell Broadcast Service ใกล้ความจริงในไทยหรือยัง
จริงๆ แล้วในปี 2567 โอเปอเรเตอร์ทั้ง AIS และ TRUE ทดสอบระบบ CBS เพื่อแสดงความพร้อมว่ามีเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว สามารถ roll out ดำเนินการได้
แต่การแจ้งเตือนภัย ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของโอเปอเรเตอร์ จำเป็นต้องมีการยืนยันข้อมูลและอนุมัติผ่านหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กระทรวงมหาดไทย และ กสทช. เป็นต้น มีระบบระเบียบ การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องทำตามนโยบาย
ในการทดสอบในปี 2567 มีการยืนยันแล้วว่าระบบ CBS จะพร้อมใช้งานในช่วงกลางปี 2568 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเดิมที่ว่าประเทศไทยจะมีระบบ Cell Broadcast Service ใช้ในเดือน ก.ค. ปี 2568
จนกระทั่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวในวันที่ 28 มี.ค. ทำให้ระบบ CBS กลายเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องมีให้เร็วที่สุด
ทาง SPIN9 ได้พูดคุยกับ ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยแจ้งเตือนภัยโดยตรง พูดคุยถึงความคืบหน้าและไทม์ไลน์ว่าไทยจะได้ใช้งาน CBS จริงเมื่อไร
ภาสกรบอกว่า ตอนนี้ ปภ. ได้อำนาจ และมีช่องทางลัดที่สามารถส่งคำแจ้งเตือนไปยังโอเปอเรเตอร์ได้เอง ไม่ต้องผ่าน กสทช. ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอพัฒนาระบบ Cell Broadcast ของ ปภ.ให้สมบูรณ์ในเร็วๆ นี้
ยกตัวอย่างวิธีการทำงานกรณีแผ่นดินไหว ผู้ส่งข้อมูลคนแรกคือกรมอุตุนิยมวิทยา ส่งมาให้ ปภ. เพื่ออ้างสิทธิ์ในการแจ้งเหตุสาธารณภัยไปยังโอเปอเรเตอร์ได้ ทันทีที่ข้อมูลถึงมือโอเปอเรเตอร์ ก็จะกดปุ่มส่งข้อความ Cell Broadcast ได้เลย โดยผู้ใช้งานจะได้รับการแจ้งเตือนทันที
ทดสอบระบบ Cell Broadcast ครั้งใหญ่ ปลายเดือน เม.ย. นี้
ภาสกร คาดการณ์ด้วยว่า จากการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประเมินขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะสามารถทำการทดสอบระบบครั้งใหญ่ระดับชาติได้ภายในปลายเดือน เม.ย.นี้ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรู้เรื่องการทดสอบระบบ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การส่ง Cell Broadcast สามารถทำได้เฉพาะ Android ก่อน ส่วน iOS มีโปรโตคอลบางอย่างที่ต้องได้รับการอนุมัติ บวกกับการที่ไทยยังไม่มี Cell Broadcast อย่างเป็นทางการ ทำให้ยังไม่สามารถใช้บนเครื่อง iOS ในไทยได้ ซึ่ง กสทช. ส่งหนังสือเร่งด่วนเพื่อสื่อสารไปยัง Apple แล้ว คาดว่าไม่เกิน 10 วันนี้ Apple ก็จะอนุมัติให้ทดสอบระบบ Cell Broadcast ได้
เมื่อดูจากความเร่งด่วนนี้ คาดว่าเดือน มิ.ย. ปี 2568 ระบบ Cell Broadcast ก็จะใช้งานในไทยได้อย่างเป็นทางการ