10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จากเวที Thailand Tech Show 2024 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน Thailand Tech Show 2024 ซึ่งเป็นประจำทุกทีที่ สวทช. จะจัดงานเสวนาและนำผู้ประกอบการมาพบกับนักวิจัย ให้ผลงานของนักวิจัยที่เคยทดสอบอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไปใช้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้จริง 

โดยไฮไลต์สำคัญของงานในปีนี้คือ การคาดการณ์เทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีผลกับเราในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช.

งานนี้ผมได้รับเกียรติเป็นพิธีกรในงานด้วย จึงขอสรุป 10 เทรนด์จากหัวข้อบรรยายมาให้อ่านกันครับ 

  1. กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle) 

กล้ามเนื้อเทียมหรือกล้ามเนื้อจำลอง (artificial muscle) สามารถยืด หด ขยายหรือหมุน เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าจากกระแสไฟฟ้า ความดัน หรืออุณหภูมิ 

กล้ามเนื้อเทียม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว และมีการพัฒนาให้เคลื่อนไหวได้เหมือนจริงมากขึ้น และจะยิ่งมีความสำคัญในสังคมสูงอายุ  ทุกวันนี้มีความต้องการกล้ามเนื้อเทียมไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ การสร้างหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงคน มูลค่าตลาดกล้ามเนื้อเทียมคาดว่าจะถึง 5,360 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2031 

  1. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)

ลำไส้ไม่ดีเป็นที่มาของโรคมากมาย ตอนนี้เรามีทางเลือกอาหารพรีไบโอติกและโพรไบโอติกให้ลำไส้มีสุขภาพดี เทคโนโลยีใหม่ที่เราจะได้เห็นคือ ซินไบโอติก เป็นการรวมความสามารถพรีไบโอติกและโพรไบโอติกเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยีคัดเลือกและตัดต่อสายพันธุ์

ในอนาคตเราอาจออกแบบวงจรยีนทำให้เซลล์จุลินทรีย์จำเพาะบางชนิด ทำหน้าที่ตรวจสอบสารแปลกปลอม เสริมฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนการเกิดโรค และรักษาโรค 

  1. แฝดดิจิทัล (Digital Twin) 

Digital Twin เป็นเทรนด์ที่ได้ยินมานานแล้ว แต่แฝดดิจิทัลในที่นี้ เป็นแฝดเพื่อการดูแลสุขภาพ(Digital Twin in Healthcare) โดยเราสร้างแฝดผ่านข้อมูลสุขภาพที่อยู่บนโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะมาจากนาฬิกา แหวน เซนเซอร์ต่างๆ กลายเป็น “ฐานข้อมูลดิจิทัล” ที่สามารถวิเคราะห์การตรวจรักษาได้แม่นยำมากขึ้น 

มีบางบริษัทในต่างประเทศเริ่มเทรนด์นี้แล้ว เช่น บริษัท Twin Health พัฒนา Digital Twin Platform สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน บริษัท Q Bio พัฒนาเครื่อง MRI ที่สแกนผู้ป่วยได้ทั้งตัว และนำไปจำลองแฝดดิจิทัล บริษัท Mesh Bio พัฒนาระบบ HealthVector® Diabetes ทำนายความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้แบบจำลอง AI ที่ประมวลผลจากข้อมูลประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ของผู้ป่วย 

  1. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ AI เสริม (Al-Augmented Software Development)

ในอนาคตอันใกล้ AI จะไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของการใช้งาน แต่ AI จะมาเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียน และพัฒนาโปรแกรมเองตามความต้องการของผู้ใช้ 

ตอนนี้ AI สามารถแปลงภาษาเป็นโค้ด สร้างและแปลโค้ดให้ใช้กับภาษาสมัยใหม่ได้ ไปจนถึงสร้างอัลกอริทึม เสนอการตัดสินใจ ออกแบบชุดความรู้และการพัฒนาให้เหมาะกับรายคนได้เลย ประโยชน์คือช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ดันซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ซึ่งภายในปี 2028 วิศวกรจะใช้ AI ช่วยเขียนโค้ดเพิ่มขึ้น 75%  

  1. อุปกรณ์สวมใส่ติด AI (AI Wearable Technology) 

ต่อไปอุปกรณ์สวมใส่จะไม่ถูกจำกัดแค่สมาร์ทวอทช์เท่านั้น ตอนนี้ในตลาดเราเริ่มเห็นแหวนอัจฉริยะแล้ว ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ เสื้ออัจฉริยะ แจ็กเก็ตอัจฉริยะ และแม้แต่พวงกุญแจอัจฉริยะ รองรับความต้องการที่มากกว่าแค่นับก้าวออกกำลังกาย แต่ยังตรวจจับความผิดปกติภายในร่างกายได้ลึกกว่า และแม่นยำมากขึ้นด้วย 

  1. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhacning Technologies : PETs)

การส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT ไปประมวลผลคลาวด์ แม้มีการเข้ารหัสข้อมูล แต่เมื่อไปถึงคลาวด์ ก็ต้องถอดรหัสเพื่อนำข้อมูลนั้นมาประมวลผล เป็นช่องโหว่ให้ข้อมูลรั่วไหลได้หากคลาวด์โดนแฮ็ก ซึ่งเทคโนโลยี PETs คือการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้โดยไม่ต้องถอดรหัส รักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ตั้งแต่ต้นน้ำ 

  1. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot) 

การรักษาความปลอดภัยด้วยคน ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เกินคนจะตรวจตราไหว พื้นที่เสี่ยงอันตราย การใช้หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา 

จุดเด่นคือสามารถทำงานต่อเนื่อง ไม่เหนื่อย ไม่แคร์สภาพแวดล้อม วิเคราะห์เหตุภัยได้แม่นยำ ไม่ชะล่าใจอย่างที่บางทีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในคน แม้การลงทุนต้องมาพร้อมต้นทุนสูง แต่คุ้มในระยะยาว 

  1. เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)

จริงอยู่ที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคือคำตอบของทางเลือกพลังงานสะอาดในรถอีวี แต่การรีไซเคิลแบตเตอรี่นั้นไม่ง่าย ใช้ความร้อนสูง และใช้สารเคมีที่เป็นพิษ 

เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คือ การรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง โดยเริ่มต้นจากการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สามารถถอดแยกสารได้นำมาร่อน ตัด ย่อย บด และคัดแยกนำสารเพื่อนำกลับมาใช้สร้างเป็นขั้วแคโทด (cathode) ของแบตเตอรี่ขึ้นใหม่ได้ ประเมินกันว่าเทคโนโลยีนี้อาจนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90% 

ตอนนี้ยังไม่มีธุรกิจนี้ในตลาด ซึ่งจะเป็นโอกาสในอนาคต ข้อจำกัดคือราคาแพง แต่เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 

  1. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)

    ไทยมีชีวมวล มูลสัตว์ น้ำเสียเยอะ ของพวกนี้สามารถนำมาผ่านกระบวนการใหม่เพื่อผลิตไฮโดรเจนใช้งานในรถได้ เป็นอีกทางเลือกนอกจากรถอีวี 

ความเคลื่อนไหวเรื่องรถไฮโดรเจนกเกิดขึ้นในไทยด้วย โดย PTT–OR–Toyota–BIG เปิดสถานีเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ส่วน Toyota ประกาศจะใช้รถยนต์ Mirai 500 คัน รับส่งนักกีฬาในโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีส 

  1.  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Next Generation of Recirculating Aquaculture System หรือ RAS) 

RAS คือการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ ใช้ระบบหมุนเวียนน้ำแทน โดยระหว่างหมุนเวียนก็ฟื้นฟูน้ำเสียด้วยการเติมออกซิเจน ลดความเสี่ยงโรคสัตว์น้ำ เลี้ยงได้ในพื้นที่น้อย บริษัทเลี้ยงกุ้งในภาคใต้เริ่มนำระบบ RAS มาใช้ ข้อจำกัดคือต้องดูแลระบบการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพราะระบบจะล่มไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว 

คนทั่วไปหรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากเฟ้นหาเทคโนโลยี และงานวิจัยใหม่ๆ สามารถเข้าร่วมงาน Thailand Tech Show 2024 ได้ฟรี ที่ชั้น G Hall 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่  22-28 กรกฎาคม 2567 ภายในงานจะได้เห็นการออกบูธ และ pitching จากสตาร์ทอัพด้วย น่าสนใจอย่างมากครับ 

ดูไลฟ์บรรยาย 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/1UbZySTaQv7jdAoX/ หรืออ่านเนื้อหาฉบับเต็มจากเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/home/news_post/10-technologies-to-watch-2024/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save