ช่วงต้นปีที่ผ่านมา AIS ได้ทำการทดสอบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือแบบเจาะจงระบุพื้นที่ไปแล้ว ความคืบหน้าเพิ่มเติมในวันนี้คือ ทรู ได้ทดสอบด้วยเช่นกันในชื่อว่า LIVE – Cell Broadcast Service แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา
ระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS จะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย ภาษาที่รองรับคือภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย
Cell Broadcast ของทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย
- การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert): การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
- การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert): การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
- การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert): ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย
- ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety): ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
- การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert): ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป
Cell Broadcast Service เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ