ทุกวันนี้คนไทยสามารถใช้เครือข่าย 5G ได้ แต่ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์มือถือที่รองรับ ส่วนใหญ่เป็นมือถือรุ่นกลางและรุ่นใหม่ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อ 5G ได้ ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์ก็ทำการตลาดและโปรโมชั่นเกี่ยวกับแพ็กเกจ 5G ด้วย
Ericsson เปิด Ericsson Mobility รายงาน 5G เป็นประจำทุกปี ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีเนื้อหาสอดคล้องกันคือ ยอดผู้ใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นทั่วโลก เพิ่มช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งในไทยรายงานระบุว่า ในปี 2025 หรือปีหน้าที่จะถึงนี้ ผู้ใช้งานในไทยที่ใช้มือถือ 5G จะเพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านเลขหมาย เพิ่มจากปี 2023 กว่าครึ่ง (21 ล้านเลขหมาย) และในปี 2030 จะมีถึง 103 ล้านเลขหมายที่เป็นผู้ใช้งาน 5G ครอบคลุม 94% ของเลขหมายทั้งหมด
Ericsson ยังเผยพฤติกรรมคนไทยด้วยว่าใช้งานดาต้ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2023 คนไทยใช้ดาต้าเฉลี่ยสูงสุด 33GB ซึ่งการใช้งานดาต้ามากจะเป็นอีกแรงหนุนให้คนเปลี่ยนมาใช้ 5G ที่ดาวน์โหลด อัพโหลด ดูคอนเทนต์ได้ดีกว่า
สำหรับภาพรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก Ericsson Mobility คาดการณ์ว่าในปี 2029 ผู้ใช้ 5G ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มสูงถึง 560 ล้านราย และคาดว่าผู้สมัครใช้บริการมือถือ 5G จะเพิ่มสูงถึง 43% ของยอดผู้สมัครใช้บริการมือถือทั้งหมดในภูมิภาค จะมียอดการใช้ดาต้าต่อสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็น 42 GB ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 17 GB ต่อเดือนในปี 2023
คุณสมบัติ 5G จะใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงาน เหมือง ที่ต้องใช้หุ่นยนต์และเซนเซอร์ช่วยในการผลิต เครือข่าย 5G ช่วยให้การควบคุมเซนเซอร์และหุ่นยนต์ทำได้กว้างขึ้นและเรียลไทม์ขึ้น ซึ่งเราได้เห็นหลายๆ โรงงานในไทยเริ่มนำ 5G มาช่วยจัดการการผลิตแล้ว
Ericsson จึงมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาดในไทย สร้าง 5G Innovation and Experience Studio ในโครงการ Thailand Digital Valley หรือเขตอุตสาหกรรม EEC เพื่อรวมเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จัดแสดงความหลากหลายของยูสเคส 5G รวมถึงหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) เครื่องจักรการผลิตอัตโนมัติที่เป็นความร่วมมือกับมิตซูบิชิ และกล้อง CCTV 360 องศา แบบสวมใส่ได้ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เผยให้เห็นศักยภาพในการนำเทคโนโลยี 5G มาเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ