Whoscall แอปช่วยเตือนเมื่อมิจฉาชีพโทรเข้ามา เผยตัวเลขว่าในปี 2566 คนไทยได้รับข้อความ SMS ที่เป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวงเฉลี่ย 6 ใน 10 ครั้ง ของข้อความ SMS ทั้งหมดที่ได้รับ หรือคิดเป็นร้อยละ 63
ไทยยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการ ได้รับข้อความ SMS หลอกลวงสูงที่สุดในเอเชียอีกด้วยโดยการหลอกลวงนั้นจะมีหลายรูปแบบ เช่น การหลอกให้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันปลอม
สถิติในปี 2566 คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ มีถึงวันละ 217,047 ราย คนไทยได้รับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพ หลอกลวงจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ ซึ่งเป็นจำนวนยอดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดรวมสายโทรศัพท์หลอกลวงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และ SMS เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 รวมมูลค่าความเสียหายสะสมกว่า 53,875 ล้านบาท
วิวัฒนาการการหลอกลวงของมิจฉาชีพตอนนี้เข้าสู่ยุค 5.0 แล้ว คือนอกจากรู้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมแล้ว ยังเพิ่มการใช้เทคโนโลยี DeepFake ทั้งภาพและเสียงเข้ามาหลอกเหยื่อด้วย ใช้เสียงของคนรู้จักโทรเข้ามาและบอกข้อมูลได้ถูกต้อง และยังมีการเก็บเสียงเหยื่อไปหลอกคนอื่นต่อได้
ล่าสุด Whoscall ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัทเอกชนเพื่อเป็นช่องทางในการแตกโค้ดพรีเมี่ยมของ Whoscall รวม 3 ล้านโค้ด ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมแคมเปญรวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท
Whoscall พัฒนาโดย Gogolook บริษัท TrustTech สัญชาติไต้หวัน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 และ Naver เข้าซื้อไปในปี 2556 ปัจจุบัน Whoscall มียอดดาวน์โหลดแล้ว 100 ล้านครั้ง มีทั้งเวอร์ชั่นใช้งานฟรี และเสียเงินเพื่อเข้าถึงฟังก์ชั่น ไม่มีโฆษณา, บล็อกเบอร์มิจฉาชีพให้อัตโนมัติ, อัปเดตฐานข้อมูลอัตโนมัติ และตัวกรอง SMS อัตโนมัติ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเดือนละ 50 บาท
นอกจากแอป Whoscall แล้วยังมีผลิตภัณฑ์ แม่รู้ดี แชทบอทตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพของ AI ได้เข้าถึงผู้ใช้งานมากกว่า 540,000 ราย
ผู้บริหาร Gogolook ให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า รายได้ของบริษัท ในระดับโลกเพิ่มขึ้นและแตะนิวไฮในระดับ 80% ปีต่อปี ยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 30% รายได้ของบริษัทมาจากสามช่องทางคือ การลงโฆษณาในแอป Whoscall, ค่า subscription และรายได้จากลูกค้าองค์กร อย่างไรก็ตาม Whoscall ตอนนี้มีผู้ใช้งานที่สมัครจ่ายค่า subscription ราว 5 % เท่านั้น