เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หัวเว่ยเปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์ Pangu (ผานกู่) ซึ่งเป็น large language model ผ่านโมเดลหลายๆ ไซส์คือ 10,000 ล้านพารามิเตอร์, 38,000 ล้านพารามิเตอร์, 71,000 ล้านพารามิเตอร์ และ 100,000 ล้านพารามิเตอร์ ใช้งานใน use case ต่างๆ
ล่าสุดในงาน Huawei Cloud AI Summit Thailand วันที่ 18 ธ.ค. หัวเว่ยนำโมเดล Pangu มาโชว์เคสให้เห็นในกรณีต่างๆ และเตรียมเทรน Pangu ในเวอร์ชั่นภาษาไทยด้วย
ตัวอย่างหนึ่งที่มีการโชว์เคสในงานคือ โมเดลพยากรณ์อากาศ ผานกู่ สำหรับประเทศไทยที่ทางบริษัทเคลมว่ามีความเร็วในการพยากรณ์หลายระดับและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถพยากรณ์เส้นทางของพายุไต้ฝุ่นในช่วง 10 วันข้างหน้าได้ภายในเวลาเพียง 10 วินาที และภายในปีหน้าหรือปี 2567 หัวเว่ยเตรียมต่อยอด ผานกู่ ภาษาไทยและผลักดันให้เกิดการใช้งานในภาคธุรกิจและรัฐบาล
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในงานคือ การลงนามร่วมกันระหว่างหัวเว่ยคลาวด์ และ กระทรวงดิจิทัล สนุนการสร้างอีโคซิสเต็มด้านคลาวด์และ AI สร้างบุคลากรที่มีความสามารถให้กับประเทศไทย ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาค
ในงานประชุมครั้งนี้ หัวเว่ย คลาวด์ กระทรวงดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคม AI องค์กรธุรกิจและพันธมิตรได้ร่วมกันเปิดตัว Cloud & AI Community Thailand หน้าเว็บเพจที่รวมข้อมูลความรู้และโซลูชั่น AI จากหลายๆ องค์กรมารวมไว้ในที่เดียวกัน