3 ข้อคิดสำคัญแห่งอนาคตกับงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2020

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีกับงาน CREATIVE TALK CONFERENCE ซึ่งปีนี้ได้ชื่อว่า “TRENDS & CONVERSATION OF THE NEW DECADE” งานสัมมนาซึ่งว่าเทรนด์หรือแน้วโน้มที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีความสำคัญมากในปี 2020 นี้เป็นต้นไป และเช่นเคย งานครั้งนี้ยังจัดเต็มด้วย session ที่พูดถึงเรื่องราวต่างๆ หลากหลายหัวข้อ พร้อมกับ Speaker กว่า 70 ท่านจากด้าน Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship และ People ผ่าน 6 เวทีและ 2 ห้อง Workshop ที่ไบเทคบางนา

ด้วยจำนวนของหัวข้อที่เปี่ยมด้วยสาระแบบอัดแน่นตลอดดระยะเวลา 9 ชั่วโมงเต็ม ทำให้เราคงไม่สามารถนำเสนอทุกรายละเอียดจากทุกหัวข้อได้อย่างครบถ้วน ถึงกระนั้นเราจึงขอเลือกเพียง 3 หัวข้อเท่านั้นมานำเสนอ ซึ่งเป็น 3 เรื่องที่มีความสำคัญมากที่เดียวกับยุคปัจจุบัน

หัวข้อแรก ได้แก่ “How Social Listening Makes Your Customer Happy” ผู้คนในแวดวงธุรกิจทุกคนล้วนคุ้นเคยกับประโยคศักดิ์สิทธิ์ “ลูกค้าคือพระเจ้า” กันดี ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเลยว่าจำเป็นต้องแคร์ลูกค้ามากเท่าใดนัก แต่สำหรับ กล้า ตั้งสุวรรณ CEO จากบริษัทด้านการวิเคราะห์โซเชี่ยลมีเดียชั้นนำอย่าง Wisesight ในฐานะที่ทำงานในแวดวงนี้มาหลายปี คลุกคลีกับลูกค้าแบรนด์ดังๆ จำนวนมาก เขาเชื่อว่าความสุขของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก

เพราะถ้าลูกค้าแฮปปี้ หัวหน้างานย่อมแฮปปี้ ส่งผลให้ตัวเองแฮปปี้ตามไปด้วย เพราะไม่ต้องเผชิญกับความเครียดจากคำตำหนิ และด้วยผลงานอันน่าประทับใจยังส่งผลดีต่อความเจริญรุ่งเรืองของหน้าที่การงานตามมา

ยุคนี้ วิธีการส่งเสียงของลูกค้าว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ไม่เหมือนเมื่อสมัยก่อนแล้ว การส่งฟีดแบ็คบนโลกออนไลน์ หากเป็นคำชมย่อมเป็นผลดี แต่หากเป็นคำตำหนิ และยิ่งเป็นคำตำหนิในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ มันอาจพลิกชะตาของธุรกิจจำนวนมากให้ดับลงได้ไม่ยาก

แต่วิกฤตจากคำตำหนิบนโลกออนไลน์ก็สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสได้เสมอ สิ่งสำคัญคือนักการตลาดต้องกล้าสื่อสารและต้องมีความเห็นอกเห็นใจ (emphatize) ต้องเข้าไปอยู่ในหัวของลูกค้า คิดแบบลูกค้าว่า ถ้าเป็นตัวเขาเองจะต้องการอะไร และสิ่งไหนน่าจะตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาตอบสนองความต้องการอีกที

ลูกค้ามีอยู่ทุกที่ หากเราเองไม่ทำให้ลูกค้าแฮปปี้ เขาก็จะไปหาคนอื่นที่จะทำให้แฮปปี้แทน และหากตอนนั้นมาถึง นั่นจะเป็นทุกขลาภอย่างใหญ่หลวง เพราะการเป็นผู้ตามมีราคาที่แพงเสมอ และเมื่อไหร่ที่เสียลูกค้าไปแล้ว อย่าคิดว่าเขาจะหวนกลับมาหาเราอีกครั้งได้โดยง่าย

——

ลูกค้ามีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ แต่พนักงานของบริษัทก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน งานเสวนาในหัวข้อ “Put the Right Me on the Right Job” จึงได้รับเกียรติจาก ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ Founder & Creator ณ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, อภิชาต ขันธวิธี Managing Directot จาก QGEN, และอานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ Head of People จาก Wongnai ซึ่งเป็น 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลมากประสบการณ์มาสนทนาและมอบแง่คิดดีๆ เรื่องการพัฒนาบุคคลขององค์กรสำหรับรับมือกับการทำงานในอนาคตภายภาคหน้าอันแสนท้าทาย

แต่ไหนแต่ไร ปัญหาหนึ่งของคนทำงานจำนวนมาก คือการได้งานที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ใช่ตัวตน และไม่เหมาะกับความสามารถของตัวเอง การไม่ได้ทำงานที่ชอบอาจทำให้ทุกวันเวลาที่ผ่านไปเป็นความทุกข์ทรมาน ทำให้ไม่อยากตื่นเพื่อไปทำงาน พาลทำให้ไฟในการทำงานมอบดับ และหลายคนอาจใช้วิธีการทำงานแบบส่งๆ เพื่อให้ผ่านพ้นไปวันๆ

อานนทวงศ์ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ จริงอยู่ว่าทุกคนอาจไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบตั้งแต่แรก แต่ต่อให้ทำงานที่ไม่ชอบ เราก็สามารถทำมันออกมาให้ดีได้ และ มันจะเป็นประตูเปิดพาไปสู่โอกาสที่จะได้ทำสิ่งอื่นๆ ต่อไป

แล้วถ้าเราไม่ชอบงาน หรือ ไม่ชอบองค์กรที่อยู่จริงๆ ล่ะ? อภิชาต ชวนตั้งคำถามว่า “จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร?” เขาชวนให้ทุกคนกลับมาสำรวจตัวเองว่า ทุกวันนี้ทางเลือกของตัวเองมีมากแค่ไหน สามารถไปเติบโตยังที่ไหนได้อีกบ้าง พร้อมเน้นย้ำว่า “อย่าอยู่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจนกระทั่งฉันรู้สึกไม่มีที่ไปแล้ว ฉันไปไหนไม่ได้แล้ว เขาจะให้เท่าไหร่ ให้น้อยให้มากแค่ไหนฉันก็ยังจำเป็นต้องอยู่ที่นี่ต่อ อย่าพาตัวเองไปถึงจุดนั้น”

อีกสิ่งที่ อภิชาต แนะนำคือหาเป้าหมายของตัวเองให้เจอ และหมั่นพัฒนาตัวเอง เดินเข้าหาโอกาสเสมอ อย่ากลัวการเป็นเป็ด หรือคนที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสุดๆ เลยสักอย่าง เพราะคนเป็นผู้บริหารระดับ CEO จำนวนมากก็เป็นเป็ด แต่พวกเขาสามารถบริหารว่าจะมอบหมายให้ใครทำงานอะไรแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ท็อฟฟี่ แบรดชอว์ เป็นอีกคนที่เชื่อมั่นในประเด็นนี้เหมือนกัน “จงภูมิใจในความเป็นเป็ด”  และเสริมอีกว่าต้องเป็นเป็ดที่ไม่หยุดนิ่ง หมั่นเรียนรู้เพิ่มทักษะต่างๆ และอย่ายอมแพ้ยอมตายง่ายๆ จงเป็นเป็ดที่มีจิตวิญญาณของนกฟินิกซ์ที่ไม่มีวันตาย และจะกลับมาสง่างามได้เสมอต่อให้จะเจอกับความผิดพลาดเช่นไร

ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งหรือไม่ก็ต้องพัฒนาตัวเองกันทั้งนั้น อย่ากลัวว่าจะเลือกงานแล้วเลือกผิด เพราะทุกการเลือกผิด มันย่อมเป็นบทเรียนสอนใจที่จะมอบอะไรดีๆ แก่ตัวเราเองในเวลาต่อมาอยู่ดี

——

อีกบทเรียนดีๆ ทิ้งท้าย เป็นเรื่องเทรนด์การทำงานในอนาคตที่น่าจับตามองมากๆ คือการเป็น “นักเล่าเรื่อง” เราทุกคนมีจิตวิญญาณของความเป็นนักเล่าเรื่องกันอยู่แล้ว แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ดีที่สุด หรือใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุด และนั่นคือหัวใจหลักของ “Secret of Storytelling” โดย พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน Curator งาน TEDxBangkok และ Co-Founder จาก Glow Story ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าฟังมากจนที่นั่งไม่พอ

เพราะเรื่องเล่ามีพลังอันมหาศาล พิริยะ ก็ใช้การบรรยายที่สนุกสนาน แฝงไปด้วยลูกเล่นน่าสนใจ เผยให้เห็นเคล็ดลับของการเล่าเรื่องอย่างประสบความสำเร็จผ่านสถานการณ์หลายๆ อย่าง โดยสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือคีย์หลัก 3 ประการได้แก่ “เข้าใจโจทย์ เข้าใจเรื่อง และเข้าใจเล่า”

สิ่งที่ทำให้การเล่าเรื่องประสบความสำเร็จกับไม่สำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่า ใครคือผู้ฟัง ช่องทางไหนที่เราจะเจอผู้ฟังได้ ผู้ฟังของเราใช้ภาษาอะไร แล้วเราสื่อสารด้วยภาษาเดียวกับเขาหรือไม่ และอะไรที่ผลักดันให้เขาทำสิ่งนั้นๆ ลงไป

นอกจากนั้น ต่อให้เรามีเรื่องเล่า แต่ถ้าเล่าแล้วคนอื่นจะสนใจอยากฟังหรือไม่ นั่นก็เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตกว่า คนฟังจะได้อะไรจากเรื่องของเรา โทนเรื่องของเราเหมาะกับผู้ฟังหรือไม่ และการเล่าผ่านสื่อแต่ละชนิดย่อมให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เราจะเล่าเรื่องแบบเดียวกันในสื่อทุกชนิดไม่ได้

และถึงจะเล่าเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ จงคัดแต่สิ่งที่เป็นแก่นแกนหลักๆ มานำเสนอเท่านั้น เพราะด้วยเวลาอันเร่งรีบของสังคมปัจจุบัน ผู้คนจะสนใจแต่สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าน่าสนใจจริงๆ และหากตัวของผู้เล่าเข้าใจตรงจุดนี้ ความสำเร็จในการสื่อสารย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

——

และนี่คือ 3 เรื่องราวสำคัญที่งานเสวนา CTC 2020 มอบให้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะได้รับอะไรดีๆ กลับไปไม่มากก็น้อย สามารถนำไปปรับใช้ รับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงและความเปลี่ยนแปลงอันไม่หยุดนิ่งตลอดปี 2020 นี้ครับ

#CTC2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save