เมื่อ “วงการไอที” เปลี่ยนไป “คนไอที” ก็ต้องเปลี่ยนแปลง

วงการไอทีเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมคนไอทีต้องเปลี่ยนแปลง ผมในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงนี้ เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ครับ มันไม่ใช่สิ่งที่ผ่านไปและผ่านไป แต่มันกำลังจะกระทบกับพวกเราทุกๆ คน และคนสายเทคโนโลยีนี่แหละครับ ที่จะเดือดร้อนก่อนใครเพื่อน

เพราะอะไรน่ะหรือครับ?

มาพูดถึงคำว่า “วงการไอที” หรือ แวดวงของคนไอทีกันเสียหน่อยครับ… ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เรามักจะนิยาม “วงการไอที” หรือ “คนไอที” เป็นมนุษย์กลุ่มที่มีความสามารถด้าน “คอมพิวเตอร์” โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ เช่น มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา(คอมพิวเตอร์), มีความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี, มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วิธีการใช้งาน รวมถึง ความสามารถในการสร้างโปรแกรม เขียนโปรแกรมต่างๆ .. คนกลุ่มนี้จะถูกจัดรวมอยู่ในคนที่ทำงานในแวดวงเทคโนโลยี (หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า สายไอที) อย่างไม่ต้องสงสัย และผมเองก็ถูกรวมอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน

แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกหน่อย วิเคราะห์กันเพิ่มเติมอีกหน่อย เราจะค้นพบว่า ในอดีต คนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “รู้เรื่องเทคโนโลยี” เนี่ย แท้จริงแล้ว ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้มากกว่าคนอื่น แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่ “สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี” ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการมีอุปกรณ์(ก่อนเพื่อน), การได้ใช้อุปกรณ์(ก่อนเพื่อน) หรือจะเป็น ความสนใจข่าวสารในแวดวงก็ตามที หรือถ้าจะพูดภาษาบ้านๆ เลย ก็คือคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก่อนคนอื่น มีมือถือรุ่นใหม่ก่อนใคร มีโอกาสได้ใช้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานก่อนคนอื่น และมักจะถูกจัดกลุ่มจากคนรอบข้างว่า เป็นกลุ่มที่รู้เรื่องเทคโนโลยีไปโดยอัตโนมัติ

ปัญหาก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เทคโนโลยี” มันไม่ใช่จำกัดอยู่แค่คนบางจำพวกที่มีโอกาสได้เข้าถึงมันก่อนใคร หรือมีราคาที่สูงลิบลิ่วเหมือนตอนที่เราเริ่มนิยามวงการไอทีกันใหม่ๆ อีกแล้วครับ แต่เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีมันไปอยู่ในมือของทุกคน มันไปอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของทุกคน อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเรียกหา ไม่ต้องกดเชื่อมต่อ ทุกคนในทุกวงการ ทุกบริษัท สามารถเข้าถึงได้แบบไม่มีกำแพงใดๆ และไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษอะไรทั้งนั้นในการเข้าถึง อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ … (เร็วนะครับ จากวันที่มีขีดจำกัดของการเข้าถึงเทคโนโลยี ถึงวันนี้ที่เทคโนโลยีอยู่ในมือของคนส่วนมากในสังคม แค่ระยะเวลาเฉียดๆ สิบปีเท่านั้น)

แล้วมันส่งผลกระทบกับคนสายเทคโนโลยียังไง?

ผมเองเป็นหนึ่งในคนสายเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กๆ ครับ มีความสนใจด้านนี้ เรียนจบทางด้านนี้มาโดยตรง คลุกคลีอยู่กับแวดวงนี้ อยู่กับคนทำงานในบริษัทสายนี้ ในแผนกเหล่านี้ และมีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในยุคเราๆ ท่านๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับความแตกต่างอันชัดเจน ระหว่างคนที่เข้าใจเทคโนโลยี กับคนที่ไม่เข้าใจ มีเส้นแบ่ง ขีดได้ชัด “เรื่องคอมพิวเตอร์ต้องถามคนนี้”, “มึงไปถามมันเลย มันเก่งคอม” นี่ก็คงจะสร้างความแตกต่างของคนที่อยู่ในสายไอทีกับคนที่ไม่ได้อยู่ในสายนี้ได้มากอยู่ครับ แต่ผมอยากให้ลองนึกว่า โลกของเราเพิ่งมีสมาร์ทโฟนมาประมาณสิบปีเศษๆ เท่านั้น และ เด็กที่เติบโตมาพร้อมกับเครื่องมืออันทรงพลังในมือ โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้วิธีการใช้งาน สามารถเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเองแบบที่ตัวเขาเองนั้น ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ (และแม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังต้องถามเด็กกลุ่มนี้เลย ว่ามันใช้ยังไง) ไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในการหาข้อมูลมาประกอบเรื่องที่ตัวเขาเองกำลังตัดสินใจ สามารถมองหารีวิวสินค้าที่ตัวเองอยากได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนในแวดวงที่เกี่ยวข้องเลยแม้แต่นิด สามารถแก้ไขปัญหายากๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน ได้ด้วยการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพียงระยะเวลาสั้นๆ เสิร์ชหาคลิปยูทูปที่สอนวิธีการทำอะไรบางอย่าง หรือ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องมีใครมาสอน (พวกเราหลายคนยังไม่มีความสามารถในการเสิร์ชหาข้อมูลเลยนะครับ เลือกใช้คีย์เวิร์ดค้นหาสู้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้แน่ๆ) ….. ทำให้ตอนนี้ เส้นแบ่งระหว่างคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีกับคนที่ไม่รู้นั้น มันจางลงไปกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ เด็กกลุ่มนี้ กำลังเรียนจบครับ ออกมาทำงาน หางานในบริษัทต่างๆ ในทุกวงการที่ตนเองจะสนใจ นั่นหมายถึง มันจะกระทบทุกวงการที่มีอยู่บนโลกใบนี้ รวมไปถึง พวกเขากำลังตั้งต้น เริ่มต้นบริษัทใหม่ๆ ของตนเองด้วย

เราจะเรียกเด็กทั้งเจเนอเรชั่นนี้ว่าอะไร? สายเทคโนโลยีเหรอครับ? … เพราะแทบทุกคนมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี พอๆ กับคนใน “สายเทคโนโลยี” ในยุคก่อนหน้า แบบที่ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลยด้วยซ้ำ เป็นความสามารถที่ติดตัวมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ดังนั้น มันจะไม่เหมือนเดิมแล้วครับ สายเทคโนโลยีที่ว่ากันเนี่ย

มันไม่เหมือนเดิมแล้วครับ สายเทคโนโลยี

ที่บอกว่าจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ก็คงไม่ใช่ว่าวงการไอทีล่มสลายหรอกนะครับ แต่สายไอที หรือ สายเทคโนโลยี มันได้กลายเป็นพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง ทุกวงการ ทุกวิชาชีพ รวมถึงเป็นหนึ่งในความสามารถที่ติดตัวทุกคนอย่างไม่รู้ตัว .. พอเป็นเช่นนี้ ความโดดเด่นของการมีความรู้ทางด้านพื้นฐานเทคโนโลยี มันก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เพราะทุกคนในทุกวิชาชีพต่างก็มีความรู้พื้นฐานทางด้านไอทีกันหมดแล้วทั้งสิ้น

แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ทางด้านไอที สินค้าไอทีต่างๆ ก็กำลังจะไม่มีหมวดหมู่ไอทีอีกต่อไป สินค้าในทุกหมวดหมู่ ที่ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะแฝงเทคโนโลยีเข้าไปแล้วทั้งสิ้น และไม่ได้แยกออกมาอยู่ในแผนก “สินค้าไอที” แต่ก็จะวางอยู่ในแผนกเดิมของสินค้าชิ้นนั้นๆ นั่นแหละ หรืออุตสาหกรรมที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกับวงการเทคโนโลยี เช่น อสังหาฯ บ้าน คอนโดที่เป็น Home Automation, รถยนต์ที่มีความสามารถทางด้าน Connected Car, ขับขี่ได้โดยอัตโนมัติ, การขายสินค้าที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินสด ระบบการขนส่งที่ทันสมัยมากขึ้น และอื่นๆ อีกมากที่เราพอจะเห็นภาพกันได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ … ถ้าตามผมทันถึงบรรทัดนี้ ลองนึกดูหน่อยครับ ว่าอะไรล่ะ คือสินค้าไอที? มือถือหรือคอมพิวเตอร์เหรอครับ? มันไม่ใช่แล้ว และมันก็ไม่มีอีกแล้ว

ย้อนกลับมาที่กลุ่มเด็กที่เติบโตมากับเทคโนโลยีพื้นฐานเหล่านี้ ที่กำลังจะเข้าทำงาน มาเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในองค์กร องค์กรที่ยังวางโครงสร้างจากความแตกต่างของผู้รู้เรื่องเทคโนโลยีกับผู้ไม่รู้ โครงสร้างแบบเดิมๆ มันกำลังจะไม่เวิร์กเสียแล้ว ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีถูกบรรจุอยู่ในพื้นฐานของการคัดเลือกพนักงานในทุกแผนก ไม่ใช่สกิลพิเศษที่มีอำนาจต่อรองได้เหนือใครคนอื่น ที่จะผลักดันให้คนในแวดวงนี้ ต้องขยับตัว หาจุดเด่น หาความชัดเจนให้ตัวเองเสียใหม่

การเปลี่ยนแปลงนี้ มันไม่ใช่ข่าวร้ายเสมอไปนะครับ เจเนอเรชั่นที่เติบโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล จะมองเห็นเทรนด์ได้ก้าวไกล และมีความเข้าใจคนยังยุคก่อนหน้า และยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีที่สุด ซึ่งหากใครสามารถใช้ความเข้าใจคนทั้งสองกลุ่มนี้ มาก่อให้เกิดประโยชน์ ในการเป็นสะพานเชื่อมจุดเด่นและจุดด้อยเข้าด้วยกันได้ ผู้นั้นจะเป็นบุคคลที่องค์กรต้องการ และยอมรับมากที่สุดเลยล่ะครับ

บทความโดย
อู๋ spin9

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save