LINE ฉลองครบรอบ 6 ปี จัดงานแถลงข่าวประจำปี เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาอยู่ในแอพ LINE หลากหลายอย่าง ที่จะทำให้แอพ LINE น่าตื่นเต้นขึ้นอีกมาก และ Takeshi Idezawa ซีอีโอของ LINE Corporation โชว์วิสัยทัศน์ของ LINE ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อย่างน่าสนใจอย่างมากครับ
สวัสดีจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นครับ ผมมาอยู่ที่งานแถลงข่าวประจำปีของ LINE Corporation ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่อาคาร Bellesalle Shibuya Garden โดยงานนี้เริ่มจากการสรุปยอดความสำเร็จจากปีที่แล้ว ซึ่งผู้ใช้งาน LINE ครองตลาดใน 4 ประเทศใหญ่ คือ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย มีผู้ใช้งานรวม 171 ล้านคน และมียอดเติบโตจากบริการต่างๆ ของ LINE เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริการ LINE News ในญี่ปุ่น หรือ บริการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ ด้วย LINE Pay ที่ตอนนี้มีพันธมิตรต่างๆ มากมาย ทั้งฝั่งของสถาบันการเงิน และฝั่งของร้านค้าที่เริ่มจะกลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานการรับชำระเงินไปแล้ว
เรื่องใหม่ในปีนี้ LINE จะสานต่อวิสัยทัศน์ Closing the Distance หรือ ทำให้ช่องว่างระหว่างทุกๆ คนนั้นหายไป กลายร่างจากบริการ่งข้อความหรือแอพ Messenger ให้กลายเป็น Smart Portal อย่างเต็มรูปแบบ โดย LINE ได้มองเห็น 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ นั่นคือ
1) Everything Connected ทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมโยงเข้าถึงกัน
2) Everything Videolized ทุกคอนเทนต์จะเป็นวิดีโอทั้งหมด และ
3) Everywhere AI ปัญญาประดิษฐ์จะอยู่ทุกหนทุกแห่ง
สอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเดินในทิศทางนี้อย่างชัดเจน
อย่างแรก Everything Connected ไลน์ได้ให้ข้อมูลว่า เทรนด์ของการเชื่อมต่อ ได้ถูกขยับจากยุคของเว็บ มาเป็นยุคของแอพ และ กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ Account หรือ บัญชีผู้ใช้งาน ที่ให้ลองนึกภาพว่า หาก account LINE ของเรา สามารถนำไปเชื่อมต่อได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การสั่งซื้อของ การเรียกรถ การจ่ายเงิน บัญชีดูหนัง ดูซีรีส์ หรือถ้าในญี่ปุ่น ก็สามารถใช้บัญชี LINE ของเรานี่แหละ ไปแตะตู้กดน้ำ จ่ายเงินค่าจอดรถ แสดงข้อมูลการเดินทาง บอดดิ้งพาสสำหรับขึ้นเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งใช้โอนเงินให้เพื่อนๆ ได้ด้วย แบบนี้แหละครับ ที่เรียกว่าเทรนด์ของการเชื่อมต่อในอนาคต จะเริ่มผูกติดกับบัญชีผู้ใช้งานของแพลทฟอร์มใหญ่ๆ มากขึ้น
ถัดมา เป็น Everything Videolized อันนี้ผมมองว่าสำคัญกับ LINE มากเลยครับ LINE เองมองว่า ต่อไป คอนเทนต์ทุกอย่างจะเป็นคอนเทนต์วิดีโอแทบทั้งหมด คนเริ่มเปลี่ยนจากการเสพคอนเทนต์แบบตัวหนังสือ มาเป็นรูปภาพ และกำลังจะเปลี่ยนมาถึงวิดีโออย่างสมบูรณ์ ดูได้จากความนิยมของการรับชมวิดีโอที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลิปต่างๆ ที่ส่งต่อถึงกัน จนถึง 2 บริการยอดนิยมของ LINE นั่นคือ LINE TV ในไทยกับไต้หวัน ที่เป็นบริการดูวิดีโอแบบ on demand (VOD) ตามความต้องการของคนดู อยากดูเรื่องไหน ตอนไหน ก็รับชมได้ตามใจชอบ กับบริการ LINE LIVE ในญี่ปุ่น บริการ Live Streaming ปล่อยให้ได้ไลฟ์กันสดๆ และมีคนผลัดกันเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก และในมุมของเม็ดเงินโฆษณา ก็ทุ่มเทมาในรูปแบบของวิดีโอมากขึ้นเช่นกัน
งานนี้ LINE จึงได้ประกาศการอัปเดตแอพ เพิ่มฟีเจอร์ Chat Live กดถ่ายทอดสดได้ผ่านทางแอพ LINE เลย โดยสามารถไลฟ์ให้เพื่อนๆ ในกรุปไลน์ได้ดูกันแบบสดๆ หรือ จะไลฟ์แบบสาธารณะ ให้คนอื่นๆ เข้ามาดูผ่านแอพไลน์ได้ทันที นอกจากนี้ จะยังมีการอัพเดตฟีเจอร์กล้องในแอพไลน์ เพิ่มลูกเล่นต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึง เพิ่มฟีเจอร์ Slideshow ที่จะช่วยสร้างคลิปวิดีโอให้เราได้แบบง่ายๆ ผ่านการเลือกรูปในเครื่องของเราหลายๆ รูป จากนั้น แอพจะตัดต่อขึ้นมาเป็นคลิปวิดีโอให้เสร็จสรรพ พร้อมส่งต่อกันในรูปแบบวิดีโอได้อย่างรวดเร็ว การอัปเดตนี้จะปล่อยมาให้พวกเราได้ใช้งานกันเร็วๆ นี้ครับ
LINE ยังได้ทิ้งท้ายเรื่องของวิดีโอเอาไว้ว่า นี่จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นนะครับ เพราะญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคของ 5G เป็นประเทศแรกๆ ในโลกภายในปี 2020 ซึ่งตอนนั้นจะทำให้คอนเทนต์วิดีโอได้รับความนิยมอย่างสูงสุด ประกอบกับคอนเทนต์ที่เหนือชั้นกว่าเดิม มาครบทั้ง VR และ AR ทำให้รับชมผ่านมือถือได้อย่างคมชัดเหนือการรับชมบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ทุกช่องทาง
เรื่องสุดท้าย คือเรื่อง Everywhere AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence จะอยู่ทุกหนทุกแห่งครับ LINE เริ่มพูดถึง AI มาได้สักพักแล้ว และได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ กับ Machine Learning แล้วหลากหลายอย่าง โดยสิ่งที่ชัดเจนมากนั้น คือเรื่องของ Chatbot ระบบตอบแชทแบบให้ข้อมูลโดยอัตโนมัติ ที่ใช้งานกันแพร่หลายในหลากหลายแอคเคานต์แล้ว แต่ปีนี้ LINE ได้ขยับขึ้นอีกขั้น ขยายพันธมิตรให้มาใช้บริการของ LINE อย่างเต็มรูปแบบ เช่น จับมือกับ การรถไฟของญี่ปุ่น หรือ JR พัฒนาระบบ Chatbot ให้สามารถตอบเส้นทางการเดินรถ การเปลี่ยนสายรถ ราคาค่าโดยสาร สถานะการเดินรถขบวนต่างๆ ตามเวลาที่ผู้ใช้งานเรียกถามได้อย่างอัตโนมัติ หรือ จับมือกับภาครัฐ เชื่อมระบบทะเบียนราษฎร์ Mynaportal เข้ากับแอพไลน์ ผู้ใช้งานในญี่ปุ่นสามารถใช้เลขประจำตัวประชาชน 12 หลัก ในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้เกือบทั้งหมด เช่น ข้อมูลการเสียภาษี ข้อความแจ้งเตือนการค้างชำระต่างๆ หรือ การลงทะเบียนใช้งานบริการต่างๆ ของภาครัฐผ่านทางแอพ LINE เป็นต้น
พูดถึงเรื่อง AI มาได้ไม่นาน LINE ก็ทำเซอร์ไพรส์ใหญ่ในงานนี้ ด้วยการประกาศเปิดตัวระบบผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ ในชื่อ Clova ที่ย่อมาจาก Cloud Virtual Assistant แถมยังเปิดตัว ลำโพงที่สามารถสั่งงานผ่านผู้ช่วยอัจฉริยะ Clova ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งลำโพงรุ่นแรกนี้ มาในชื่อ Wave เป็นลำโพงไร้สาย ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร สำหรับใช้งานภายในบ้าน แต่จะสามารถสั่งงานได้ด้วยเสียง มีฟีเจอร์ในการเขื่อมต่อกับอุปกรณ์หลักๆ ภายในบ้านเพื่อควบคุมได้เหมือนกับลำโพงอัจฉริยะรุ่นอื่นๆ ในตลาด แต่เสริมความเก่งกาจด้วยการรองรับแอพ LINE อ่านข้อความแชท หรือ สั่งให้ส่งแชทได้ รวมถึงจะสามารถสั่งงานฟีเจอร์ต่างๆ ในแอพ LINE ได้ในอนาคต เล็งวางขายปีนี้ในราคา 15,000 เยน หรือประมาณ 5 พันบาท
ยังไม่พอแค่นั้น LINE ยังบอกว่า จะมีลำโพงอัจฉริยะแบบนี้ออกมาอีก 2 รุ่นครับนั่นคือ CHAMP ลำโพงไร้สายหน้าตามุ้งมิ้ง ด้วคาแรคเตอร์ Brown และ Sally สุดน่ารัก กับอีกรุ่นคือ FACE ลำโพงอัจฉริยะพร้อมหน้าจอแสดงสถานะ ดีไซน์สวยงาม ซึ่งจะปล่อยรายละเอียดออกมาเพิ่มเติมในอนาคต
การเปิดตัวผู้ช่วย Clova ครั้งนี้ของ LINE ก็มีพาร์ทเนอร์สำคัญที่ประกาศจับมือด้วยทันที นั่นคือ Toyota ที่ประกาศว่า จะนำผู้ช่วยอัจฉริยะ Clova ไปอยู่ในรถยนต์โตโยต้า เพื่อให้คนขับสามารถสั่งงานสมาร์ทโฟนด้วยเสียงได้ หรือถ้ามีข้อความเร่งด่วน ก็ให้ Clova อ่านให้ฟังได้โดยไม่ต้องละสายตาจากท้องถนน เพื่อความปลอดภัยในการโดยสารด้วยรถยนต์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ LINE ยังจับมือกับ FamilyMart กว่าหมื่นสาขาในญี่ปุ่น นำระบบ Clova เข้าไปฝังอยู่ในสาขาต่างๆ ให้ลูกค้าสอบถามรายละเอียดของสินค้าต่างๆ หรือแม้กระทั่งแปลภาษาให้กับคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ได้เลือกซื้อสินค้าต่างๆ ได้เหมือนกับคนท้องถิ่นอีกด้วย
spin9‘s Thought:
แม้ว่า LINE จะยังไม่ใช่แพลทฟอร์มยักษ์ใหญ่ และยังสามารถยึดครองอาณาเขตได้เพียง 4 ประเทศเอเชีย (ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ไทย และ อินโดนีเซีย) แต่ 4 ประเทศที่ LINE สามารถครองตลาดผู้ใช้งานได้นั้น ต่างมี loyalty ที่สูงมากกับ LINE โดยไม่มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนผู้ใช้งานลงเลย หากมองในสเกลของแต่ละประเทศแล้ว LINE สามารถขยายบริการในประเทศที่ตัวเองมีตลาดได้อย่างกว้างขวางอย่างมาก เช่น ในญี่ปุ่น LINE นั้นไปฝังอยู่ในบริการดิจิทัลแทบจะทุกอย่างแล้ว หรือแม้กระทั่งในไทยเอง เราก็มีโอกาสได้ใช้บริการอื่นๆ ของ LINE นอกเหนือจากการแชทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิสัยทัศน์ของ LINE ที่จะนำพาผู้ใช้งานของแต่ละประเทศไปยังทิศทางที่ LINE มองเห็นนั้น มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
A.I. ไม่ใช่เรื่องใหม่ก็จริง และ ลำโพงที่สั่งงานผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ ก็มีคนทำมาก่อนหน้านี้แล้วมากมาย แต่สิ่งที่ LINE จะทำได้ดีในตลาดนี้ คือความเข้าถึงง่าย ความ friendly ในสไตล์ญี่ปุ่น การใช้คาแรคเตอร์ไลน์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และมีฐานแฟนที่พร้อมจะตอบรับกับตลาดได้ทันที ก็น่าสนใจไม่น้อย ว่า LINE จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นอย่างมากก็เป็นได้ ทีนี้ก็ต้องไปวัดกันแล้วว่า ใครจะสามารถทำ localization หรือปรับตัวให้เข้ากับตลาดของแต่ละประเทศได้ดีกว่ากัน โดยเฉพาะในไทยเอง ที่จำเป็นต้องรองรับภาษาไทยอย่างสมบูรณ์ (ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่มีอะไรที่ต้องห่วง เพราะเขาให้ความสำคัญมาก่อนใครอยู่แล้ว) ตลาดผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะที่รองรับภาษาไทยได้ดีที่สุดตอนนี้ ตกเป็นของ Siri จาก Apple ที่ได้ขยับตัว เผยโฉมของลำโพง HomePod ไปก่อนหน้านี้ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายของ LINE ที่จะนำ Clova มาแจ้งเกิดในตลาดบ้านเราได้แบบง่ายๆ ครับ
ส่วนบริการหลัก อย่างตัวแอพ และฟีเจอร์ที่เพิ่มความเก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ ของ LINE นั้น ผมยังมองว่า LINE ยังมาถูกทางและทำได้ดีมากๆ กับตลาดโดยรวม การมุ่งเน่นคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น และเปิดฟีเจอร์ Live หรือถ่ายทอดสดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยและญี่ปุ่น ให้มาอยู่ในแอพหลักและกดถ่ายทอดสดได้เลย (จะมีการอัปเดตให้ใช้กันเร็วๆ นี้) จะสร้างความคึกคักให้กับการใช้งานแอพ LINE มากขึ้นไปอีก และน่าจะทำให้ตัวเลขเฉลี่ยการใช้งานแอพ LINE ต่อวันนั้นเพิ่มสูงขึ้นได้กว่าปัจจุบัน (ที่ก็มากอยู่พอสมควรแล้ว) เข้าไปอีก
โดยสรุปแล้ว ทิศทางของ LINE ที่แถลงปีนี้ คือเพิ่มความเฉียบคมให้กับตลาดปัจจุบันได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ แต่ต้องไม่มองข้ามว่า โจทย์ของ LINE Corporation ที่หินมากๆ นั้น คือต้องวางแผนในการยึดครองตลาดในประเทศใหม่ๆ ให้ได้ครับ
บทความโดย: อู๋ @spin9