รีวิว นาฬิกา Apple Watch ภาคภาษาไทย ฉบับจัดเต็ม

พูดถึงสินค้า Apple ที่ร้อนแรงมาตั้งแต่ต้นปีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Apple Watch นาฬิกาอัจฉริยะรุ่นแรกของแบรนด์ Apple ผู้นำสินค้านวัตกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมมาแล้วหลากหลายตัว แต่การรุกตลาด “นาฬิกาข้อมือ” และ “อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ” ครั้งแรกของ Apple จะทำได้ดีแค่ไหน มาดูพร้อมกันครับ

Apple-Watch-digital-crown

Apple เปิดตัวนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ (Smart Watch) ในชื่อรุ่น Apple Watch ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2014 ที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะเปิดให้สั่งจองกันเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2015 และเริ่มส่งมอบเรือนแรกในวันที่ 24 เมษายน 2015 นี้เอง โดยเริ่มส่งมอบเพียง 9 ประเทศเท่านั้น ด้วยยอดสั่งจองล้นหลามชนิดที่ Apple ไม่สามารถนำ Apple Watch มาวางขายที่หน้าร้าน Apple Store ของตนเองได้ในวันที่ 24 เมษายน แต่จะส่งมอบให้กับแฟนๆ Apple ที่สั่งจองผ่านทางหน้าเว็บเท่านั้น และคาดว่าจะยังไม่มีการจำหน่ายผ่านหน้าร้าน Apple Store ไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

และวันนี้ Apple Watch จำนวนหนึ่งที่ผมได้สั่งจองไว้ผ่านหน้าเว็บของ Apple Store ญี่ปุ่น ก็ได้ส่งมอบมาถึงมือผมแล้วครับ ขอเริ่มทำการรีวิวจากรุ่น Apple Watch Sport ซึ่งเป็นโมเดลที่ขายดีที่สุด และราคาย่อมเยาที่สุดกันก่อน (Apple Watch ทุกรุ่นย่อยมีความสามารถเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเพียงวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน, รูปแบบของสาย และ ขนาดหน้าปัดเท่านั้น)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

กล่องของ Apple Watch Sport จะมาในทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้กล่องสีขาวทั้งหมด และมีปั๊มโลโก้ Apple Watch อยู่ตรงกลาง ใช้ดีไซน์ใกล้เคียงกับกล่อง iPhone และผลิตภัณฑ์ Apple ในรุ่นใหม่ๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภายในกล่องใหญ่ จะเจอกล่องพลาสติกแบนๆ สำหรับใส่ตัวเรือนนาฬิกา พร้อมสายที่ทำมาจาก Fluoroelastomer Plastic (Apple เรียกสายแบบนี้ว่า Sport Band) โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นตัวเรือนขนาด 42mm สายสปอร์ตแบนด์สีฟ้า ซึ่งสายที่ติดมากับตัวเรือน 42mm จะเป็นสายขนาดความยาว M/L สำหรับข้อมือขนาดใหญ่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในกล่องยังมีสาย Sport Band สีเดียวกันมาให้อีกหนึ่งเส้น เป็นขนาด S/M สำหรับคนที่ข้อมือเล็กมาให้เปลี่ยนได้ บวกกับสายชาร์จ Apple Watch และอะแดปเตอร์ชาร์จไฟก็มีมาให้ในกล่องเช่นกัน โดยส่วนที่ผมชอบสายชาร์จที่ติดมาให้คือเรื่องของความยาวถึง 2 เมตร อำนวยความสะดวกสำหรับการชาร์จไฟให้กับนาฬิกา Apple Watch (แต่สายยาวๆ แบบนี้ก็พกลำบากเหมือนกัน)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตัวเรือน Apple Watch Sport จะทำมาจากอะลูมิเนียมอะโนไดซ์ซีรีย์ 7000 ตัวเรือนมีสองสีคือสีเงิน และสีเทาสเปซเกรย์ (ตัวที่รีวิวนี้เป็นตัวเรือนสีเงิน) กระจกนาฬิกาของรุ่น Apple Watch Sport ทำมาจาก Ion-X Glass ในขณะที่ Apple Watch รุ่นแพง ตัวเรือนจะทำมาจากสแตนเลสสตีล (Apple Watch) หรือ ทองคำ 18 กะรัต (Apple Watch Edition) และกระจกตัวเรือนจะทำมาจากกระจกแซฟไฟร์ ทนต่อรอยขีดข่วนได้ดีเยี่ยมกว่า Apple Watch Sport

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้านขวาของตัวเรือน เป็นตำแหน่งของปุ่มควบคุม ซึ่งแบ่งออกเป็นเม็ดมะยมดิจิทัล (Digital Crown) สามารถหมุนขึ้นลงได้ และสามารถกดเข้าไปได้ กับปุ่มยาวๆ อีกหนึ่งปุ่ม ที่สามารถใช้กดได้อย่างเดียว

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้านซ้ายของตัวเรือน เป็นตำแหน่งของลำโพง และ ไมโครโฟนของนาฬิกา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้านหลัง ประกอบไปด้วยเซนเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อความกำกับรุ่น วัสดุของตัวเรือน วัสดุของกระจกหน้าจออย่างชัดเจน พร้อมสลักเล็กๆ สำหรับถอดเปลี่ยนสายนาฬิกา ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดาย และตัวเรือนทุกรุ่นสามารถใช้งานได้กับสายทุกรุ่นอย่างไร้ขีดจำกัด (จะเอา Apple Watch Sport ไปใส่สายเหล็ก หรือเอา Apple Watch Edition ทองคำแท้มาใส่สายยางก็ได้ ไม่ว่ากัน)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การเปลี่ยนสาย Apple Watch สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ครับ ใช้นิ้วกดสลักค้างไว้ และใช้อีกมือสไลด์สายออกด้านข้างแบบในรูปด้านบนนี้ ก็เปลี่ยนสายได้เองเลยแบบง่ายๆ

เริ่มใช้งาน

การใช้งาน Apple Watch ถูกบังคับให้ใช้งานร่วมกับ iPhone เท่านั้นครับ ไม่สามารถใช้งานเดี่ยวๆ ได้ รวมถึงไม่สามารถใช้งานกับ iPad ได้ เพราะต้องมีการจับคู่ หรือ Pairing กับ iPhone เครื่องใดเครื่องหนึ่งเอาไว้ตลอดเวลา โดยจะต้องใช้ iPhone ที่ติดตั้ง iOS เวอร์ชัน 8.2 ขึ้นไป (สังเกตได้จากไอคอนแอพ Apple Watch บน iPhone ถ้ามีก็แปลว่าใช้ได้) จากนั้น เมื่อเปิด Apple Watch ครั้งแรก ก็จะเจอหน้าจอให้เรา Pair กับ iPhone ของเราแบบนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วิธีการ Paring ของ Apple Watch ถูกออกแบบมาได้เก๋มากครับ ปกติการจับคู่อุปกรณ์ Bluetooth จะต้องเข้าไปใส่ Passcode ในหน้า Settings ของ Bluetooth ซึ่งวุ่นวายมาก แต่ครั้งนี้ Apple ทำให้มันง่ายขึ้นด้วยการใช้กล้องของ iPhone ส่องไปที่หน้าจอของนาฬิกา Apple Watch ที่ต้องการ แบบนี้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

จากนั้น ในแอพ Apple Watch ก็จะให้เราตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่บนข้อมือซ้ายหรือขวา, ล็อกอิน Apple ID และตั้งค่าภาษาต่างๆ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น พร้อมใส่ออกไปใช้งานได้เลย

การสวมใส่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นาฬิกา Apple Watch มีสายหลายแบบมากครับ โดยสำหรับรุ่นยอดนิยมอย่าง Apple Watch Sport นี้ จะเป็นสายยาง Fluoroelastomer มีความยืดหยุ่นและทนต่อเหงื่อ เหมาะสำหรับใส่เล่นกีฬา (ตามชื่อรุ่นของมัน) สายรุ่นนี้มีน้ำหนักเบา ถือว่าเป็นนาฬิกาข้อมือที่สวมใส่สบายมากๆ รุ่นนึงเลย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

รูปแบบการล็อกของสายรุ่นนี้ ใช้หมุดยึดรูบนสายนาฬิกาก่อน และเอาปลายสายสอดเข้าไปในช่องเพื่อเก็บปลายสายให้อยู่ด้านใต้ เมื่อสอดเข้าไปสุดแล้วก็แทบไม่มีความเสี่ยงที่นาฬิกาจะหลุดเองเลยครับ ไม่ว่าจะวิ่ง สะบัดข้อมือ หรือโดนเกี่ยวจากด้านไหนก็ตาม ถือว่า Sport Band มีรูปแบบการล็อกที่แน่นหนา ในขณะที่ยังถอดและใส่ได้ง่ายด้วย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตามรูปนี้เป็นตัวเรือนขนาด 42mm นะครับ ส่วนผู้หญิงหรือใครที่ข้อมือเล็กหน่อย น่าจะเหมาะกับรุ่นตัวเรือนขนาด 38mm มากกว่า

การควบคุม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การควบคุมนาฬิกา Apple Watch แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 อย่างครับ ซึ่งต้องบอกว่า ใช้การเรียนรู้อยู่สักพักใหญ่ๆ กว่าจะเข้าใจการทำงานทั้งหมดและใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว แม้กระทั่งคนที่คุ้นเคยกับสินค้า Apple มาทั้ง iPhone iPad Mac ก็ตาม พอมาเจอ Apple Watch นี่มีงงกันไปทุกราย

– Digital Crown

การควบคุมแบบแรกคือผ่านเม็ดมะยมดิจิทัล หรือ Digital Crown ที่สามารถหมุนได้ลื่นมาก ชนิดที่ต้องลืมภาพเม็ดมะยมบนนาฬิกาข้อมือทุกรุ่นที่เราเคยสัมผัสมาครับ Digital Crown ตัวนี้หมุนได้แค่เอานิ้วเดียวไปเลื่อนผ่านเท่านั้น ไม่ต้องใช้สองนิ้วเพื่อหมุนเหมือนอย่างในนาฬิกาข้อมือทั่วไป การหมุน Digital Crown ใช้ในการ Scroll ข้อความต่างๆ, คำสั่งต่างๆ ขึ้นลง รวมถึงใช้ในการซูมเข้าออกด้วย

นอกจากนี้ Digital Crown ยังเป็นปุ่มที่สามารถกดลงไปได้ ทำหน้าที่เหมือนปุ่ม Home บน iPhone ครับ หลงทางที่หน้าไหน ก็กด Digital Crown หนึ่งครั้ง เพื่อกลับไปที่หน้าหลัก หรือจะกดเบิ้ลสองครั้ง เพื่อกลับไปที่แอพล่าสุดที่เราเรียกใช้งานได้ด้วย

– ปุ่ม Side Button

ปุ่มยาวๆ ที่อยู่ถัดลงมาจาก Digital Crown เป็นปุ่มที่จะทำให้ทุกคนสับสนครับ ปุ่มนี้กดหนึ่งครั้ง เพื่อโชว์หน้าเพื่อนที่เราตั้งไว้ (ถ้าไม่ได้ตั้งอะไร ก็จะโชว์จาก Favorite Contacts จาก iPhone) เพื่อสามารถติดต่อกับเพื่อนกลุ่มนี้ได้อย่างง่ายๆ ผ่านนาฬิกา, ถ้ากดเบิ้ลสองครั้ง จะเป็นการใช้งาน Apple Pay (ยังไม่รองรับในไทย ข้ามไปก่อน), ส่วนถ้ากดแช่ค้างไว้ จะเป็นการปิดเครื่อง หรือเลือกเปิดโหมดประหยัดแบตเตอรีได้ …. ปุ่มนี้ทำได้แค่นี้ครับ แต่เรามักจะสับสน เผลอไปกดปุ่มนี้ เพื่อเข้าเมนู หรือ นึกว่ามันเป็นปุ่ม Home อยู่เสมอ ก็หลงทางกันไป กว่าจะคุ้นชิน ก็นานเอาเรื่อง

– แตะหน้าจอ

การแตะหน้าจอ Apple Watch ทำได้ 4 แบบครับ  1) แตะเบาๆ เพื่อกดปุ่มต่างๆ บนจอ หรือเข้าแอพต่างๆ เหมือนเราใช้งานจอทัชสกรีนทั่วไป 2) แตะหนักๆ กดแรงๆ เพื่อเรียกคำสั่งบางอย่างของแอพนั้นๆ เช่นแตะหนักๆ ที่คอนแทค เพื่อเปิดเมนูการเขียนข้อความใหม่ถึงเพื่อน หรือ แตะแรงๆ ที่หน้าปัดนาฬิกา เพื่อเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัด เป็นต้น 3) แตะค้าง และลาก ทำหน้าที่เหมือน drag and drop ทั่วไป และ 4) สไลด์ หรือ swipe หน้าจอ เพื่อเปลี่ยนหน้า หรือ ใช้ในการ scroll แทนการหมุน digital crown

แค่นี้ก็สับสนละ…

ฟีเจอร์ต่างๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นาฬิกา Apple Watch โดยพื้นฐานแล้วสามารถทำได้หลายอย่างมากครับ และจะเพิ่มขีดความสามารถขึ้นไปได้อีกมาก ตามแต่นักพัฒนาแอพจะออกมารองรับ ซึ่งวันนี้เดี๋ยวผมจะไล่ให้ดูว่ามันทำอะไรได้บ้าง

เลือกหน้าปัดนาฬิกา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ขึ้นชื่อว่าเป็นนาฬิกาอัจฉริยะ ก็ต้องเลือกรูปแบบหน้าปัดได้ครับ หลายคนอาจจะชอบแบบเข็ม หรือจะเอาแบบดิจิทัล หรือจะผสมรวมกับข้อมูลบางอย่าง เช่นอุณหภูมิ ตารางนัดหมาย ค่าการออกกำลังกาย ก็สามารถเลือกได้หลายแบบ โดยแต่ละแบบก็ยังเลือกได้อีกว่าจะเอาสีอะไร และข้อมูลไหนมาแสดง หรือไม่เอาข้อมูลไหนมาแสดงบ้าง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ที่น่าเสียดายที่สุดคือตอนนี้ Apple ยังไม่เปิดให้ออกแบบหน้าปัดนาฬิกาเองครับ ยังบังคับให้ใช้ตามออปชั่นที่ Apple มีมาให้ 8 แบบหลักๆ เท่านั้น (แต่คาดว่าในอนาคตจะมีรูปแบบอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นกว่านี้)

แจ้งเตือน

IMG_6711

ความสามารถหลักของนาฬิกา Smartwatch ทั่วไป ก็คือความสามารถในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ เช่น มีสายโทรเข้า, ข้อความใหม่, อีเมลใหม่, เมนชั่นในทวิตเตอร์, เตือนตารางนัดหมาย ฯลฯ โดย Apple Watch จะทำงานร่วมกับ Notification บน iPhone เพื่อก้อปปี้ Notification มาแจ้งเตือนผ่านนาฬิกาอีกหนึ่งทาง เช่น มีอีเมลเข้ามาใหม่ ก็จะดังทั้ง iPhone และบนนาฬิกา Apple Watch (พร้อมสั่นเล็กน้อยที่ข้อมือ ให้คนใส่ได้รับรู้) เพิ่มความสะดวกให้คนใส่อีกทางในการดู Notification และไม่พลาดข้อความสำคัญ รวมถึงไม่ต้องหยิบ iPhone จากกระเป๋าออกมาดู หากเป็นข้อความที่ไม่สำคัญอีกด้วย แต่นี่ก็เป็นแค่เรื่องเบสิคทั่วๆ ไป ที่นาฬิกา Smartwatch รุ่นไหนๆ ก็ทำได้ และขายกันมาเป็นปีๆ แล้ว

“ชำเลือง”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ที่มาใหม่ใน Apple Watch เห็นจะเป็นฟีเจอร์ที่เรียกว่า “ชำเลือง” หรือ Apple เรียกว่า Glances ครับ ซึ่งวิธีการเข้าสู่หน้า Glances ก็แค่เอานิ้วปาดหน้าจอขึ้น 1 ครั้ง และ Glances ก็จะแสดงขึ้นมา สามารถเปลี่ยน Glance ได้โดยการเลื่อนหน้าจอไปทางซ้าย/ขวา ก็จะเห็นข้อมูลจากแอพต่างๆ แบบเร็วๆ เช่น ข่าวด่วนจาก CNN, ทวีตล่าสุด, ทวีตที่กำลังติดเทรนด์ตอนนี้, อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน, ราคาหุ้นตัวที่เราตั้งไว้ หรือ แม้กระทั่งการควบคุมง่ายๆ เช่น เล่นเพลงจาก iPhone, หยุดเพลง, เปลี่ยนเพลง เป็นต้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แอพพลิเคชั่นจาก App Store ที่ออกแบบมารองรับ Apple Watch สามารถเลือกได้ด้วย ว่าจะให้เอาข้อมูลบางอย่างมาแสดงบน Glance หรือไม่ และตอนนี้ก็มีแอพจำนวนมาก ออกแบบมารองรับตรงนี้แล้ว

IMG_6738

ในเมนูของแอพ Apple Watch สามารถเลือกได้ด้วยครับ ว่าจะเอา Glance จากแอพไหนมาแสดงบ้าง และเลือกเรียงลำดับได้ตามลักษณะการใช้งานของแต่ละคน

Siri – สั่งงานด้วยเสียง

หนึ่งในความสามารถที่หลายคนเพิ่งเริ่มจะชอบ บน iPhone ก็คือการสั่งงานด้วยเสียง และพูดตอบโต้กับ “Siri” เพราะ Siri เพิ่งจะรองรับภาษาไทยเมื่อตอนที่อัปเดตมาเป็น iOS 8.3 นี้เอง แต่ต้องขอบอกข่าวร้าย สำหรับ Siri ภาษาไทยบน Apple Watch ครับ เพราะมัน “ยังไม่รองรับ” รองรับแล้ว ใน Watch OS 1.0.1 ใช้งานด้วยสิริภาษาไทยได้แล้ว

IMG_6656

ตอน Pair Apple Watch ตัวแอพจะฟ้องทันทีครับ ว่าตอนนี้ Siri บน Apple Watch ยังไม่รองรับภาษาไทยนะจ๊ะ ดังนั้น ถ้าจะสั่งงาน Apple Watch ด้วยเสียงตอนนี้ ต้องไปเลือกภาษา Siri เป็นภาษาที่รองรับเสียก่อน เช่นภาษาอังกฤษ ถึงจะเรียกสั่งงาน Apple Watch ผ่านคำสั่ง “Hey Siri” ได้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การสื่อสาร

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นาฬิกา Smartwatch ที่ดี นอกจากจะต้องเตือนสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ต้องสามารถตอบโต้ หรือตอบกลับข้อความต่างๆ ด้วยวิธีง่ายๆ แบบเร็วๆ ได้แบบไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาปลดล็อกเพื่อตอบข้อความเหล่านั้นได้ด้วย และ Apple Watch ก็พยายามจะทำแบบด้วย ด้วยข้อความ Smart Reply ที่ถูกตั้งค่าเอาไว้ส่วนหนึ่งให้เลือกแตะได้จากหน้าจอ (เพราะคงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะยัดคีย์บอร์ดทั้งแป้นมาใส่บนหน้าปัดนาฬิกา) หรือจะส่งกลับด้วย Emoticon ง่ายๆ หรือจะตอบกลับไปด้วยเสียงก็สามารถทำได้ไม่ยากเช่นกัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

Digital Touch – ส่งต่อลายมือ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ถ้าใครได้ติดตามงานเปิดตัว Apple Watch จะเห็นฟีเจอร์นึงที่เรียกว่า Digital Touch ครับ เป็นการวาดรูปหรืออักษรบนหน้าจอนาฬิกา Apple Watch จะสามารถส่งต่อไปยังเพื่อนที่มี Apple Watch ได้ โดยรูปจะปรากฏบนหน้าปัดนาฬิกาของเพื่อน ตามรูปแบบที่เราได้วาดไว้ทุกประการ หรือจะส่งต่ออัตราการเต้นของหัวใจของหัวใจเรา ไปสั่นที่นาฬิกา Apple Watch ของเพื่อน ด้วยอัตราการเต้นจริงของหัวใจได้ด้วย … ผมลองใช้แล้ว ต้องบอกว่า ไร้สาระชะมัด 555

แอพ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การใช้แอพต่างๆ บนหน้าปัด Apple Watch นี่ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่สุด และน่าจะเป็นเหตุผลที่แข็งแรงที่สุดที่ทำให้หลายคนตัดสินใจเลือกซื้อ Apple Watch ครับ เพราะแอพหลายตัวบน iPhone ได้ออกมารองรับการใช้งานบน Apple Watch ที่มีขนาดหน้าจอเล็กกว่าพอสมควร ซึ่งส่วนมากจะเป็นแอพเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทาง เช่น การใช้นาฬิกาเป็น Boarding Pass (นกแอร์รองรับแล้วด้วยนะ), แอพ SPG ของกลุ่มโรงแรม Starwood ที่ตอนนี้รองรับการใช้ Apple Watch แทนคีย์การ์ดเข้าห้องพักในโรงแรมบางแห่งแล้ว, แอพ Uber สามารถเรียกรถได้จากการแตะนาฬิกาเพียงปุ่มเดียว (โคตรสะดวกครับ และใช้จริงโคตรเวิร์ก), หรือแม้กระทั่งแอพ LINE ที่เราใช้แชทกัน ก็สามารถเอาข้อความที่ยังไม่อ่านจากทุกกรุ๊ปมาโชว์ และแตะเข้าไปอ่านได้จากนาฬิกา Apple Watch โดยไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเลย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
เรียก Uber เพียงแตะนาฬิกาครั้งเดียว
อ่าน LINE จาก Apple Watch ก็ทำได้
ส่งสติ๊กเกอร์พื้นฐาน เพื่อตอบ LINE
ส่งสติ๊กเกอร์พื้นฐาน เพื่อตอบ LINE

ตอนนี้ หลังจากที่ Apple Watch วางขายเพียง 1 วัน ก็มีแอพบน App Store มากกว่า 3,000 แอพแล้ว ที่รองรับการใช้งานบน Apple Watch ครับ (แต่ที่เลวร้ายสุดคือยังไม่มี Facebook) และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนี้ เปิดโอกาสให้คนใช้ Apple Watch สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้นผ่านนาฬิกาข้อมือ โดยไม่ต้องเอื้อมไปแตะมือถือ

Comments จาก Instagram
Comments จาก Instagram

ฟิตเนส และ สุขภาพ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หนึ่งฟีเจอร์สำคัญของนาฬิกา Apple Watch คือเรื่องของสุขภาพ โดย Apple ได้ฝังเอาเซนเซอร์จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าทางด้านสุขภาพติดมาในนาฬิกาเรือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการนับก้าวเดิน ระยะทางที่เดินได้ในแต่ละวัน ความเร็ว ตรวจจับว่ายืนหรือนั่งต่อเนื่องกันกี่ชั่วโมง (จะได้เตือนให้เราลุกไปเดินบ้าง เมื่อนั่งทำงานนานๆ) วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และยังทำงานร่วมกับ Apple Health บน iPhone เพื่อเก็บสถิติย้อนหลังด้วย

IMG_6713

นอกจากนี้ ยังมีแอพเพื่อสุขภาพหลากหลายตัว ที่พัฒนาแอพมาอยู่บนข้อมือ ไม่ว่าจะเป็นแอพ Nike+, Runtastic PRO, Strava, RunKeeper ฯลฯ ที่เอาค่าและสถิติต่างๆ มาแสดงบน Apple Watch ได้ในขณะที่กำลังออกกำลังกายอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าสะดวกกว่าการดูจาก iPhone แน่ๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถวัดและแสดงผลได้แบบ Real Time ผ่านเซนเซอร์ด้านหลังตัวเรือน

แบตเตอรี

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

หนึ่งความกังวลของผู้ใช้ และเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของผู้ผลิตของนาฬิกาอัจฉริยะ คือเรื่องของแบตเตอรี ที่ต้องบอกข่าวร้ายว่า Apple Watch ต้องชาร์จทุกวันครับ (ใช้แบบเต็มๆ วัน กลับบ้านเหลืออยู่ 14%) โดยการชาร์จ Apple Watch สามารถทำได้ผ่านสายที่ Apple ให้มาเท่านั้น มีลักษณะเป็นวงกลมแม่เหล็ก ติดเข้าไปที่ด้านหลังของตัวเรือน ส่วนปลายอีกด้านเป็น USB ปกติ เท่ากับว่าผู้ใช้งาน Apple Watch จำเป็นต้องพกสายแปลกๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเส้น เมื่อต้องเดินทางไปต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ความเร็วในการชาร์จ หากใช้อะแดปเตอร์ที่ติดมา จะชาร์จได้เต็มด้วยระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษๆ

สรุปเลยละกัน ใช้งานจริงแล้วเป็นไง?

ผมได้ครอบครอง Apple Watch ตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่ายและใช้อย่างจริงจังที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อยู่ราว 2 วันก่อนที่จะคลอดรีวิวนี้ออกมา ความรู้สึกที่สวมใส่ Apple Watch ไม่ได้ให้ความแตกต่างกับนาฬิกาข้อมือทั่วไปเลย ทั้งน้ำหนัก และขนาดกับความหนาของตัวเรือน (มีแค่สายสีฟ้านี่แหละ ที่เตะตาเกินไปนิด) และส่วนตัวรู้สึกหายเห่อกับนาฬิกา Smartwatch มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ทั้ง Android Wear ที่ออกมาก่อนหน้านี้เกือบปี และยังมี Pebble กับแบรนด์อื่นๆ อีกมาก ทำให้ผมรู้สึกไม่ “Wow” กับ Apple Watch เท่าไหร่ เพราะสร้างความแตกต่างในประสบการณ์ที่เกิดจากการสัมผัสและใช้จริงครั้งแรกไม่ได้

ดีไซน์ของ Apple Watch ถึงแม้ว่าผมเองจะต่อต้านตั้งแต่วันแรกที่ Apple เปิดตัว ว่านาฬิกาข้อมือ หน้าปัดควรจะต้องเป็นวงกลมสิ (ดูอย่าง Android Wear หน้าปัดกลมอย่าง Moto 360 หรือ LG Watch Urbane ที่สวยโดดเด่นกว่ารุ่นหน้าปัดสี่เหลี่ยมอยู่มากโข) แต่พอได้เห็นตัวจริง ก็ต้องบอกว่า Apple ทำออกมาไม่ขี้เหร่ และมีเหตุมีผลมากพอสมควรกับดีไซน์หน้าปัดสี่เหลี่ยมมุมโค้งแบบนี้ ตัวเรือนไม่หนามากนัก และเบากว่าที่คิดไว้มาก หน้าจอสีสันสวยงามน่าใช้ บวกกับหน้าจอที่ทัชได้แม่นยำ กับระบบสั่นตอบสนอง (Haptic Feedback) ที่ทำได้ดีมากๆ

การควบคุม Apple Watch ถือว่าเป็นสินค้า Apple ที่ทำความคุ้นเคยได้ยากมากที่สุดตัวนึงครับ เป็นสินค้าที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ และใช้เวลากับมันมากกว่าสินค้าตัวอื่นๆ ที่แกะกล่องออกมาแล้วจะใช้เป็นในทันที ผมเองได้อ่านรีวิว Apple Watch มาบ้างก่อนที่มันจะวางขายจริง ทำให้พอจับทางได้เร็ว (เหมือนกับคุณผู้อ่านที่ได้อ่านรีวิวชิ้นนี้แล้ว ก็คงจะพอรู้วิธีควบคุม) แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อ่านหรือศึกษา Apple Watch มาก่อน ถ้าไปจับของจริงครั้งแรก หลงทางทุกคนครับ

Notifications ต่างๆ ที่เข้ามา เมื่อเทียบกับ Android Wear แล้ว ถือว่า Apple Watch เข้าถึง Notification ได้ลำบากกว่า และไม่ Sync กับทุกแอพที่เด้งเตือนเข้ามาเหมือนกับที่ Android Wear ทำ (ของ Apple Watch นี่เป็นเฉพาะแอพที่รองรับ Apple Watch แล้ว ถึงจะเด้งเตือนมาที่นาฬิกาได้ ส่วน Android Wear นี่มาหมด ไม่ว่าจะมีแอพหรือไม่มีแอพบนนาฬิกาก็ตาม) อย่างเช่นตอนนี้ ยังไม่มีแอพ Facebook สำหรับ Apple Watch ออกมา ทำให้ทุกการแจ้งเตือนของ Facebook จะยังไม่มีปรากฏขึ้นบนนาฬิกาเรือนนี้

Glances บน Apple Watch ถือได้ว่าดีมาก และเป็นสิ่งที่ Android Wear ไม่มี โดยเฉพาะแอพที่ทำ Glance ดีๆ นี่คือทำให้เราได้ข้อมูลแบบสั้นๆ ไวๆ แบบไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาดูเลย เช่นพวกข่าวด่วน หรือ ข้อมูลที่จำเป็นบางอบ่างในขณะที่กำลังเดินทาง แค่ปาดนิ้วครั้งเดียวจากหน้าจอนาฬิกา ก็ได้ข้อมูลพวกนี้อย่างรวดเร็ว คาดว่าในอนาคตจะมีแอพที่ทำ Glance เจ๋งๆ ออกมาอีกเยอะมากๆ น่าติดตามดูกันต่อไป

เรื่องที่น่าขัดใจ คือเรื่องของรูปแบบหน้าปัด ที่ยังมีให้เลือกน้อย และยังไม่รองรับการออกแบบเอง ทำให้หน้าปัดของ Apple Watch ในตลาดตอนนี้อาจจะดูเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ได้มีความเป็นตัวตนของผู้ใส่มากมายนัก และเรื่องขัดใจอีกเรื่องคือฟีเจอร์ติงต๊องต่างๆ เช่นการส่ง Digital Touch หาคนที่ใช้ Apple Watch ด้วยกัน ถือว่าปัญญาอ่อนมากทีเดียว

แบตเตอรีของ Apple Watch จริงๆ ผมไม่ถือว่าน่าผิดหวังขนาดนั้น แม้จะต้องชาร์จทุกวัน แต่ก็การันตีได้ว่าไม่ต้องถึงขั้นพกสายชาร์จ Apple Watch มาชาร์จผ่าน Powerbank กันระหว่างวันครับ โอกาสที่ใช้จนหมดคาออฟฟิศนี่น้อยมาก (ยกเว้นวันแรกๆ ที่ซื้อมา เพื่อนอาจจะมาขอเล่น ขอดูกันเยอะหน่อย) ส่วนความท้าทายเรื่องอายุการใช้งานแบตเตอรีของนาฬิกา Smartwatch ที่ต้องทำให้มันใช้ได้นานกว่านี้ น่าจะยังต้องรอการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป

นาฬิกาข้อมือ ไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับทุกคนครับ อย่าลืมว่าตลาดนี้ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือที่เรามีใช้งานกันทุกคน เอาแค่กวาดสายตาไปตอนนี้ ลองดูสิว่าข้อมือใครว่างๆ ไม่ได้ใส่นาฬิกาข้อมืออยู่บ้าง … ไม่น้อยเลยนะครับ ดังนั้น ถึง Apple Watch จะเก่งขนาดไหน แต่การที่จะไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ไม่ใส่นาฬิกาข้อมือ ให้มาใส่นั้น ยังถือได้ว่ายากมากๆ อยู่ดี รวมถึงคนที่ใส่นาฬิกาข้อมืออยู่แล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากได้ Apple Watch อีกเช่นกัน

Apple Watch is not for everyone.

 
ข้อดี

– เป็นนาฬิกา Smartwatch ที่สวย และมีความหลากหลาย ทั้งวัสดุตัวเรือน และ รูปแบบของสาย
– แอพต่างๆ สามารถเพิ่มขีดความสามารถของมันได้อีกมหาศาล นับวันจะยิ่งเก่งขึ้น และน่าใช้ขึ้น
– รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เล่นกีฬา รักสุขภาพ นักเดินทาง นักธุรกิจ นักเรียน เด็ก คนแก่
– มาตรฐานการผลิตสูง แพกเกจจิ้ง ดีไซน์ เนี๊ยบไร้ที่ติ

ข้อเสีย

– แพง จัดว่าเป็น Smartwatch ที่แพงมากเมื่อเทียบกับ Smartwatch ในตลาดทั้งหมด และยิ่งแพงหนักเข้าไปอีกหากเลือกวัสดุเป็นสแตนเลส (Apple Watch) หรือทองคำ (Apple Watch Edition)
– ต้องอาศัยการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับการควบคุมค่อนข้างนาน ถึงจะเกิดความเคยชินและใช้ได้อย่างคล่อง
– ระบบ Notification ยังไม่แจ๋ว ส่วนหนึ่งต้องรอการอัปเดตจากผู้พัฒนาแอป
– สายชาร์จรูปแบบใหม่ ต้องพกสายเพิ่มเมื่อต้องเดินทาง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save