เทคนิคใช้ Data Roaming เมื่อไปต่างประเทศ ให้ประหยัดที่สุด

เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว กับอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ตอนนี้ทุกคนกำลังเสพติดการแชท และโซเชียลอย่างมาก ขนาดแค่อยู่ไทย ยังต้องหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อแพ็กเน็ตหมด, แบตอ่อน หรือเน็ตช้า แล้วถ้ายิ่งเดินทางไปต่างประเทศอีก ก็คงขาดไม่ได้ที่จะต้องหาแพ็กเกจ Data Roaming จากค่ายมือถือไปใช้บริการกัน ซึ่งส่วนมากก็จะมีราคาที่แพงเอาเรื่อง และก็ไม่ได้มีให้บริการอยู่ในทุกประเทศที่เราจะเดินทางเสียด้วย

เรามักจะได้ยินข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์บิลช็อก หรือว่าเจอค่าบริการมือถือ Data Roaming เดือนนึงเป็นแสนๆ บาทเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ พาลเอาหลายๆ คนหวาดกลัว ไม่กล้าใช้ Data Roaming ที่ต่างประเทศ เพราะกลัวว่าหลังจากเที่ยวกลับมา ทริปสุดหรรษาจะกลายเป็นฝันร้าย ซึ่งผมขอยืนยันว่า ไม่ต้องกลัวครับ ถ้าเรารู้จักกับวิธีการทำงานของระบบ Data Roaming ที่วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังกัน

แยกให้ออก ระหว่าง Voice Roam กับ Data Roam

คำว่า Roaming ที่ใช้กันสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างเข้าใจง่ายๆ คือการไปใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือนอกพื้นที่ให้บริการของเครือข่ายที่เราใช้งานเป็นหลัก (Home Network) ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการนำมือถือที่ใส่ซิมในประเทศบ้านเกิดของเรา ไปใช้งานที่ต่างประเทศ (International Roaming) ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามือถือของคุณใช้ซิม AIS ไปเปิดเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือว่านอกพื้นที่ให้บริการในประเทศไทย ซิมของ AIS ก็จะไปจับสัญญาณของเครือข่ายมือถือในประเทศสิงคโปร์ (ไม่ว่าจะเป็น SingTel, Starhub, ฯลฯ) โดยถือว่าการจับสัญญาณของเครือข่ายในสิงคโปร์ของซิม AIS นี้ เป็นการ Roaming สัญญาณ

เมื่อมีการ Roaming สัญญาณเกิดขึ้น ตรงนี้ก็จะขอแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ประเภทครับ คือการใช้งานโทร (Voice) กับการใช้งานเน็ต (Data)

Voice Roam – โทรออก/รับสาย เมื่ออยู่ต่างประเทศ

คือการโทรออก / รับสาย ในขณะที่ทำการ Roaming ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ซิม AIS ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีการจับสัญญาณเครือข่ายใดๆ ในสิงคโปร์เอาไว้ เมื่อมีคนโทรเข้าเบอร์ AIS ของเราเบอร์นี้ มือถือของเราก็จะสามารถรับสายได้ปกติ (โดยที่คนโทรไม่ต้องกดรหัสประเทศเพิ่มเติม และคนโทรไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราอยู่ไทยหรือสิงคโปร์) ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับคนโทรจะถือว่าเป็นการโทรออกปกติ เสียค่าบริการปกติเหมือนโทรหาเบอร์โทยด้วย แต่ผู้รับสายจะต้องเป็นคนเสียเงินค่า Voice Roam ซึ่งส่วนมากก็จะคิดเป็นเงินนาทีละหลายสิบบาทในการรับสายที่ต่างประเทศ

ส่วนกรณีโทรออก เมื่ออยู่ต่างประเทศ ขอยกตัวอย่างเดิม ถ้าเราใช้ซิม AIS ที่ประเทศสิงคโปร์ และต้องการโทรกลับไทย ตรงนี้ต้องมีการกดรหัสประเทศก่อน เพราะมือถือจะคิดว่าเรากำลังใช้งานบนเครือข่ายของประเทศสิงคโปร์ ต้องมีการบอกรหัสประเทศให้รู้ เช่นจะโทรหาเบอร์ 081xxxxxxx ก็จะต้องกด +66 81xxxxxxx เป็นต้น (+66 คือรหัสประเทศของประเทศไทย) ส่วนมากก็จะมีค่าใช้จ่ายในการโทรกลับไทยด้วยวิธีนี้ อยู่ที่นาทีละหลายสิบบาทเช่นกัน ราคาขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศด้วย

dial plus sign

***การกดเครื่องหมาย + บนแป้นมือถือ เกือบทุกรุ่นให้กดเลข 0 ค้างไว้ จะเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย + ครับ หรือถ้ารุ่นไหนกดไม่ได้ สามารถกด 00 แทนเครื่องหมาย + ได้เลย เช่น 006681xxxxxxx ก็มีค่าเท่ากับ +6681xxxxxxx ทุกประการ

ผู้ให้บริการมือถือในไทยทุกค่าย มีแพ็กเกจ Voice Roam แทบทุกประเทศ ส่วนมากเป็นลักษณะของการเหมาจ่าย ให้ราคาค่าโทรออก/รับสายต่อนาที รวมถึงค่าบริการส่ง SMS ถูกลงกว่าราคาปกติ ก็สามารถเลือกแพ็กตามความต้องการได้ครับ ในกรณีที่เราคิดว่าน่าจะต้องมีการโทรออก/รับสายขณะที่อยู่ต่างประเทศ

Data Roaming – ใช้เน็ตเมื่ออยู่ต่างประเทศ

ว่าเรื่องการโทรไปแล้ว มาดูเรื่อการใช้เน็ตบ้างครับ ซึ่งเป็นคนละส่วนกันอย่างชัดเจน อันนี้จะเรียกว่า Data Roaming ซึ่งตอนนี้หลายคนสนใจจะใช้แค่ Data Roaming ตอนอยู่ต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจบริการ Voice Roam มากนัก เพราะมีแอพหลายตัวสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อพูดคุยทางเสียงได้ ไม่ว่าจะเป็น LINE Call, Skype, หรือ FaceTime ดังนั้น ถ้าเปิดใช้บริการ Data Roaming ยิ่งถ้ามีแบบ Unlimited ใช้ได้ไม่อั้น ก็น่าจะจบครับ เที่ยวหรือทำงานก็ทำได้สบายมาก

Screen Shot 2014-11-23 at 21.42.45

การใช้งาน Data Roaming ค่อนข้างเสี่ยงกว่า Voice Roam มากครับ ถ้าไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เพราะเราไม่สามารถควบคุมปริมาณข้อมูลที่ไหลเข้าออกได้เหมือนกับการโทรออกหรือรับสาย แถมราคาค่าบริการก็แพงมหาโหด ถ้าใช้งาน Data Roaming แบบไม่เปิดแพ็กเกจ มีโอกาสที่จะโดนเรียกเก็บวันนึงเป็นหลักหมื่นบาทได้เลยทีเดียว

แล้วใช้เน็ตที่ต่างประเทศอย่างไร ถึงจะประหยัดที่สุด?

การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ (3G/4G) ที่ต่างประเทศ หลักๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีครับ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งลักษณะการใช้งาน, ประเทศที่จะเดินทางไป, จำนวนวันที่จะใช้, จำนวนคนที่เดินทางด้วยกัน ฯลฯ ไม่มีวิธีไหนตายตัว ไปดูทีละตัวกันครับ ว่าเราควรใช้แบบไหนถึงจะเหมาะ

1. เปิดแพ็กเกจ Data Roaming จากไทย

Photo 24-11-14 10 23 07

วิธีนี้คือวิธีเบสิคที่สุดครับ ตอนนี้ทุกเครือข่ายหลักในไทย ทั้ง AIS, dtac และ Truemove-H ต่างก็มีแพ็กเกจ Roaming ให้ได้เลือกใช้ ทั้งแบบเติมเงินและแบบรายเดือน มีการทำสัญญาไว้กับเครือข่ายต่างๆ ในประเทศหลักๆ ทั่วโลก ยิ่งถ้าเราเดินทางในประเทศยอดนิยม เช่นประเทศสิงคโปร์, ญี่ปุ่น หรือ ฮ่องกง ก็จะมีแพ็ก Unlimited Data Roaming ใช้งานได้ไม่อั้น ในราคาไม่แพงมากให้ได้ใช้กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น

ฮ่องกง, สิงคโปร์, เกาหลีใต้

AIS: 1 วัน 350 บาท | 3 วัน 950 บาท | 5 วัน 1,400 บาท
dtac: 1 วัน 280 บาท
Truemove-H: 1 วัน 280 บาท

ญี่ปุ่น

AIS: 1 วัน 450 บาท | 3 วัน 1,300 บาท | 5 วัน 2,000 บาท
dtac: 1 วัน 280 บาท
Truemove-H: 1 วัน 280 บาท

สหรัฐอเมริกา

AIS: 1 วัน 350 บาท | 3 วัน 950 บาท | 5 วัน 1,400 บาท
dtac: 1 วัน 450 บาท | 3 วัน 1,299 บาท | 5 วัน 2,099 บาท
Truemove-H: 1 วัน 499 บาท | 3 วัน 1,450 บาท | 5 วัน 2,400 บาท | 7 วัน 3,350 บาท

ส่วนประเทศโซนยุโรป Data Roaming แบบ Unlimited จะค่อนข้างแพงหน่อยครับ และไม่ใช่ทุกค่ายที่จะมีให้เลือกใช้ รวมถึงคนที่เดินทางหลายประเทศในทริปเดียวกัน อาจจะต้องซื้อหลายแพ็กในทริปเดียว (บางค่ายก็ไม่ต้อง เพราะเหมาเป็นวัน ไม่ได้แยกประเทศ) แนะนำให้ปรึกษากับเครือข่ายที่เราใช้งานในการเลือกแพ็กให้เหมาะกับประเทศและจำนวนวันที่เราจะเดินทางก่อน

สำคัญมาก! ต้องเลือกเครือข่ายให้ตรงกับแพ็กที่สมัคร

Screen Shot 2014-11-23 at 21.29.00

Screen Shot 2014-11-23 at 21.28.37

เหตุการณ์บิลช็อค โดนเรียกเก็บค่า Data Roaming เป็นหมื่นเป็นแสน ทั้งๆ ที่สมัครแพ็กไม่กี่ร้อยบาทไว้แล้ว มาจากความไม่เข้าใจในการเลือกเครือข่าย Roaming ครับ ต้องไม่ลืมว่า ในแต่ละประเทศที่เราจะไป มีเครือข่ายมือถือตั้งหลายค่าย (ไทยเรามี 3 นี่ถือว่าน้อยแล้วนะครับ) ดังนั้น เวลาค่ายมือถือบ้านเราไปทำสัญญา Unlimited Data Roaming ไว้ อาจจะไปทำสัญญากับค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถ้าเราดันไปเลือกใช้เครือข่ายผิดค่าย การใช้งานนั้นก็จะไม่รวมอยู่ในแพ็กที่เราสมัครทันที แถมยังต้องโดนเก็บค่าบริการในราคาเต็ม และมักจะโดนเก็บในราคามหาโหด เพราะเราคิดว่าสามารถใช้งานได้ไม่อั้น นั่นคือที่มาครับ ว่าทำไมบางคนถึงโดนเรียกเก็บบิลเป็นหลักแสน

กรณีบิลช็อก จริงๆ แล้วเครือข่ายบ้านเราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเลยนะครับ เพราะมีเงื่อนไขระบุชัดเจนมาก ว่าแพ็กเกจ Unlimited Roaming ที่เราเลือกนั้น ใช้กับเครือข่ายไหนได้บ้าง ดังนั้น เลือกให้ถูก และเลือกให้เป็นครับ

แพ็ก Data Roam จะไม่เกี่ยวกับการใช้โทรเลยนะครับ แยกกันอย่างชัดเจน Voice ก็ส่วน Voice, Data ก็ส่วน Data ครับ ถ้าจะใช้ทั้งสองอย่าง ต้องซื้อทั้งสองแพ็ก

วิธีการเลือกเครือข่ายเมื่อเดินทางไปถึงต่างประเทศ

1) ปิดเมนู Data Roaming ทันทีที่เปิดเครื่อง (หรือปิด Data Roaming ไว้ตั้งแต่ก่อนเดินทางออกจากไทยก็ยิ่งดีครับ)

2) เลือกเครือข่ายแบบ Manual ให้ตรงกับเครือข่ายที่แพ็กเกจระบุไว้ (ห้ามเลือก Automatic เด็ดขาด! เพราะหากเราไปอยู่ในที่ที่เครือข่ายที่เราอยากใช้อับสัญญาณ มือถือจะไปจับสัญญาณเครือข่ายอื่นโดยอัตโนมัติ อาจทำให้เราเสียเงินนอกแพ็กจนหมดตัวได้)

3) เมื่อจับสัญญาณได้แล้ว ค่อยเปิด Data Roaming เพื่อใช้งาน

สำหรับคนที่ใช้แพ็กเกจแบบจำกัดปริมาณข้อมูล เช่นซื้อแบบ 50MB ต่อวัน หรือ 500MB ต่อสัปดาห์ ก็ต้องเลือกเครือข่าให้ตรงกับแพ็กเช่นกันนะครับ และควรเปิดปิด Data Roaming เฉพาะช่วงที่ต้องการใช้งานเท่านั้น ไม่ควรเปิดทิ้งไว้ทั้งหมด เพราะแพ็กจะหมดก่อนแน่ๆ ครับ (มือถือสมาร์ทโฟนปัจจุบันมีการไหลเข้าออกของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา)

iPhone-Manual-Network-Selection

วิธีการประหยัด Data ในกรณีที่แพ็กเกจไม่ใช่แบบ Unlimited

สมาร์ทโฟนส่วนมากตอนนี้ สิ่งที่ทำให้เปลือง Data ที่สุดในกรณีที่เปิดทิ้งไว้ทั้งวัน มีอยู่ 2 อย่างด้วยกันครับ

1) Notification แบบ Push (หรือที่เราอาจเรียกว่าเด้งเตือน) ต้องอธิบายก่อนว่า การทำงานของระบบเด้งเตือนของแอพต่างๆ ในมือถือ เกิดจากการที่แอพในมือถือส่งคำสั่งไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของแอพนั้นๆ เพื่อถามว่ามีข้อความใหม่ อีเมลใหม่ หรือ Notification ใหม่ๆ รึเปล่า ถ้ามี เครื่องเซิร์ฟเวอร์ก็จะส่งข้อมูลกลับมาที่สมาร์ทโฟนของเรา ซึ่งระบบ Notification นี่แหละครับ ที่ทำให้สมาร์ทโฟนของเรามีการวิ่งเข้าออกของ Data อยู่ตลอด วิธีการที่จะประหยัด Data ในขณะที่ใช้งานต่างประเทศ (โดยที่แพ็กเกจไม่ใช่แบบ Unlimited) ก็ให้ไปปิดระบบ Notification ของแอพต่างๆ ไว้ก่อน

2) ระบบ Backup ข้อมูลอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งบน iOS และ Android ครับ เช่นระบบ iCloud Backup หรือ Google Sync ที่ชอบสำรองข้อมูลในเครื่องของเราไปเก็บเอาไว้บนเซิร์ฟเวอร์ ยิ่งถ้าเปิดการทำงานของระบบ Backup รูปต่างๆ เอาไว้ใน Google+ หรือ Photo Stream, iCloud Photo Library ก็จะยิ่งเปลือง Data มาก เพราะฉะนั้น ช่วงที่เดินทางต่างประเทศ (โดยที่แพ็กเกจไม่ใช่แบบ Unlimited) ก็ขอให้ปิดระบบพวกนี้เอาไว้ชั่วคราวก่อน

Google-Photos-Sync-Off-Android

แอพ LINE ที่พวกเราชื่นชอบในการแชทกัน หากไปอยู่ในกรุ๊ปที่มีคนจำนวนมากๆ เด้งกันวันนึงหลายร้อยข้อความ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็อย่าเกรงใจที่จะส่งไปบอกเพื่อนๆ ก่อนว่าขออนุญาตออกจากกรุ๊ปชั่วคราวเพื่อเดินทางต่างประเทศ ก็จะช่วยเรื่อง Data ได้มากครับ

Free Wi-Fi ช่วยได้มาก

เมื่ออยู่ต่างประเทศ ให้หมั่นหา Wi-Fi ตามจุดต่างๆ ดูครับ ตอนนี้หลายๆ ประเทศก็มี Wi-Fi สาธารณะให้ใช้ได้แบบฟรีๆ หรือตามร้านอาหารส่วนมาก ก็มีให้ใช้เช่นกัน เพียงแค่ต้องขอรหัสจากพนักงานเท่านั้นเอง ก็จะช่วยประหยัดแพ็ก Data ได้เหมือนกัน

hotel-free-wifi

ข้อควรระวังอีกหนึ่งอย่าง ในกรณีที่เปิดใช้งานแพ็กเกจ คือเรื่องของเวลาท้องถิ่น โดยแพ็กเกจส่วนมากจะเริ่มและหมดตอนเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ (ไม่ใช่เวลาในไทย) จึงควรเลือกแพ็กให้ครอบคลุมทุกวันที่จะเดินทาง หรือถ้าเลือกไว้ไม่ครอบคลุม ก็อย่าลืมปิดการใช้งาน Roaming ก่อนที่จะถึงเวลาเที่ยงคืนของวันนั้นๆ เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายส่วนเกินแพ็กเกจที่จะตามมาเรียกเก็บในราคาเต็ม (บางประเทศบางแพงถึง MB ละหลายร้อยบาท)

นอกจากนี้ หลายๆ ค่ายมือถือบ้านเราก็ยังมีบริการเสริมสำหรับ Data Roaming ยิบย่อยอีกมากครับ เช่นบริการ Chat Unlimited เปิดแชทได้อย่างเดียว, บริการควบคุมค่าใช้จ่าย Roaming, บริการคืนค่า Roaming ที่ไม่ได้ใช้งาน, บริการซิมการ์ดสำหรับใช้ต่างประเทศโดยเฉพาะ ฯลฯ ซึ่งผมขอแนะนำให้ตรวจสอบกับค่ายมือถือที่เราใช้งานก่อนเดินทางครับ ว่าประเทศที่เราจะไปนี่เค้ามีข้อเสนออะไรที่น่าสนใจบ้าง

หน้าเว็บหลักของบริการ Roaming >>> AIS | dtac | Truemove-H

ข้อดีของการเปิด Roaming จากไทย
– ไม่ต้องถอดเปลี่ยนซิมให้วุ่นวาย
– ราคาในประเทศยอดนิยมมีแพ็กราคาถูก
– เหมาะสำหรับการเดินทางสั้นๆ ไม่เกิน 3-5 วัน
– สามารถใช้รับสายจากเบอร์เดิมของเราได้เลย โดยไม่ต้องพกมือถือหลายเครื่อง

ข้อเสีย
– ต้องเลือกเครือข่ายในประเทศที่เราเดินทางให้ถูกต้อง (สำคัญอย่างมาก)
– ไม่มีแพ็กเกจรองรับในกรณีที่เดินทางนานๆ หลายวัน

2. ไปซื้อซิมที่ต่างประเทศ

วิธีนี้ก็ง่ายไม่แพ้กัน ก็คือไม่ต้องเปิดแพ็กเกจอะไรทั้งนั้น แต่ให้ไปซื้อซิมการ์ดของเครือข่ายในประเทศนั้นๆ เมื่อเดินทางไปถึงครับ ซึ่งปัจจุบันตามสนามบินหลักๆ ทั่วโลกก็มักจะมีขายอยู่แล้วในราคา และแพ็กเกจการใช้งานที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ จากประสบการณ์ พบว่าวิธีนี้จะคุ้มกว่าการเปิด Data Roaming จากไทยมากในกรณีที่อยู่ในประเทศนั้นค่อนข้างนานหน่อย (เกิน 4 วันขึ้นไป)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วิธีการซื้อซิมที่ต่างประเทศ อย่างง่ายที่สุดก็ดูตามเคาน์เตอร์ที่สนามบินครับ มักจะมีขายโดยทั่วไปอยู่แล้ว และมักจะมีแพ็ก pre-paid สำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้เลือก (โดยเฉพาะพวก data package) จากนั้นก็อย่าลืมเลือกขนาดซิมการ์ดให้ตรงกับมือถือรุ่นที่เราจะถือไปใช้งานด้วย บางประเทศอาจจะต้องมีการใช้ Passport ในการลงทะเบียนซิมตอนซื้อ ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของแต่ละประเทศครับ

ได้ซิมที่ต่างประเทศมาแล้ว อย่าเพิ่งใจร้อนเอากลับมาใส่ซิมเปิดใช้งานเองครับ ผมแนะนำว่าให้ถามเจ้าหน้าที่ที่ขายซิมให้เรา ว่าเปิดใช้งานครั้งแรกอย่างไร เพราะซิมของบางประเทศ ต้องมีการโทร หรือกดรหัสลงทะเบียนเลือกแพ็กที่เราจะใช้ก่อน หากเปิดใช้งานโดยไม่เลือกแพ็ก เงินในซิมอาจจะหมดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เป็นต้น และบางประเทศก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในระบบลงทะเบียนซิม รวมถึงบางเครือข่ายอาจจะต้องตั้งค่า APN เพิ่มเติมในมือถือของเราก่อนจึงจะใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น ถามเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อย ถ้าทำไม่เป็น ก็ให้เจ้าหน้าที่ทำให้ก่อนครับ

ข้อดีของการซื้อซิมที่ต่างประเทศ
– ราคาถูกกว่าในกรณีที่ใช้งานหลายวัน
– ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งค่า Roaming หมดปัญหาเรื่องบิลช็อก
– สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกในอนาคต หากกลับมาประเทศเดิมอีกโดยการเติมเงิน (หากซิมยังไม่หมดอายุเสียก่อน)
– สามารถโทรหาเบอร์ท้องถิ่นได้ถูกกว่าเปิด Roaming ไปจากไทยมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องติดต่อกับเบอร์ท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ

ข้อเสีย
– ไม่สามารถรับสายจากเบอร์เดิมของไทยได้ เว้นแต่จะพามือถือไปสองเครื่อง
– ถ้าเดินทางไปแค่ไม่กี่วัน หารลงมาราคาต่อวันอาจจะแพงมาก เพราะส่วนมากแพ็กของซิมใหม่จะเริ่มต้นที่ 1 เดือน

พอเลือกได้แล้ว ว่าเราจะเปิด Data Roaming หรือจะไปซื้อซิมที่ต่างประเทศ ก็มาดูเทคนิคการประหยัดค่าใช้จ่ายกันครับ

เดินทางหลายคน เปิดใช้คนเดียวก็พอ

การเดินทางเป็นหมู่คณะ พร้อมเพื่อนๆ, ครอบครัว หรือ เดินทางกับคณะทัวร์ โดยส่วนมากเราจะใช้ชีวิตที่ต่างแดนแบบเกาะกลุ่มกันตลอดแทบจะ 24 ชั่วโมงเลยครับ ดังนั้น ถ้าใครคิดจะเปิด Data Roaming จากไทยไป ก็ขอให้คุยกันในกลุ่มที่จะเดินทางด้วยกันก่อน แล้วเข้าเว็บไปดูแพ็กเกจ Data Roaming เทียบเลยว่าประเทศที่เราจะไปเนี่ย ของค่ายไหนถูกที่สุด (AIS, dtac, Truemove-H) ก็ให้เพื่อนคนที่ใช้ซิมค่ายนั้นเป็นคนเปิดแพ็กครับ พอเดินทางไปถึงต่างประเทศ ก็ให้มือถือของเครื่องที่เปิด Data Roaming ไป เป็นคนปล่อยสัญญาณ Personal Hotspot ให้เราใช้ (แล้วค่อยมาหารค่าแพ็ก Roaming กันทีหลัง) วิธีนี้จะประหยัดเงินได้มาก แต่แนะนำให้ทำเฉพาะแพ็กที่เป็น Unlimited Data Roaming นะครับ แบ่งกันใช้หลายคน ถ้าไม่ใช่แบบ Unlimited นี่คงไม่ไหวแน่

iphone-personal-hotspot

ที่น่าห่วง คือสมาร์ทโฟนที่จะนำมาปล่อยสัญญาณ Personal Hotspot จะกินแบตเตอรีค่อนข้างมากครับ แนะนำให้วางแผนดีๆ ในการเตรียมเอา Power Bannk หรือแบตเตอรีสำรองได้ด้วย สำหรับเสียบชาร์จเครื่องที่เอาไว้ปล่อยสัญญาณโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเครื่องที่ปล่อยสัญญาณ เป็นเครื่อง Android ก็จะดีมากครับ เพราะเท่าที่ผมลองใช้มาหลากหลายรุ่น Android สามารถปล่อย Personal Hotspot ได้อึดกว่า iPhone มาก (อย่าลืมตั้งค่าเครือข่ายให้ถูกต้องก่อนด้วยนะครับ)

โดยส่วนมากมือถือ 1 เครื่อง สามารถปล่อยสัญญาณให้มือถือเครื่องอื่นๆ มาเชื่อมต่อได้พร้อมกันสูงสุดไม่เกิน 5 เครื่องครับ ถ้าใครเดินทางเป็นหมู่คณะที่ใหญ่กว่านั้น ก็ต้องวางแผนเปิด Roaming กันมากกว่า 1 ซิม

Screenshot_2014-11-24-02-14-17

ส่วนกรณีที่ไปซื้อซิมที่ต่างประเทศ ต้องระวังไว้นิดนึงครับ เพราะซิมท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศ ไม่อนุญาตให้ปล่อย Personal Hotspot ได้ ก็จะสามารถใช้เน็ตได้เฉพะเครื่องที่ใส่ซิมเท่านั้น (แต่ถ้าใช้ซิมไทยแล้วเปิด Data Roaming ไป สามารถเปิด Personal Hotspot ได้ทุกกรณี)

แล้ว Pocket Wi-Fi ล่ะ น่าใช้มั้ย?

อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi แบบใส่ซิมการ์ด หรือที่เราเรียกกันว่า Pocket Wi-Fi น่าใช้เฉพาะบางประเทศเท่านั้นครับ ขอแบ่งเป็นกรณีที่เราเปิด Data Roaming จากไทยก่อน ถ้าเป็นกรณีนี้ ผมไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ เพราะตัวเครื่อง Pocket Wi-Fi ไม่สามารถเลือกล็อกเครือข่ายได้เหมือนโทรศัพท์มือถือ (หรือถ้าทำได้ ก็ค่อนข้างจะยุ่งยากเลย) มีโอกาสที่ Pocket Wi-Fi เราจะไปจับสัญญาณเครือข่ายที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของแพ็ก Data Roaming และเกิดกรณีบิลช็อกได้ครับ

20130205-123325

เช่นเดียวกับกรณีที่ไปซื้อซิมต่างประเทศครับ หากซิมท้องถิ่นนั้นไม่อนุญาตให้ปล่อย Personal Hotspot ได้ ก็จะไม่สามารถใช้งานกับเครื่อง Pocket Wi-Fi ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น กรณีที่จะใช้ Pocket Wi-Fi ได้ เลยเหลือแค่กรณีที่แพ็กเกจ Unlimited Data Roaming ที่เปิดไปจากไทยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้กับเครือข่ายใดเป็นพิเศษ (เช่นบางแพ็กของ dtac เมื่อนำไปใช้ในบางประเทศ สามารถใช้ได้ทุกเครือข่าย) กับกรณีที่ซิมการ์ดต่างประเทศ อนุญาตให้ปล่อยสัญญาณ Personal Hotspot ได้ เช่น ซิม Pocket Wi-Fi ของญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ เป็นต้น

ข้อดีของ Pocket Wi-Fi คือมันออกแบบมาเพื่อปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi โดยเฉพาะ มีขนาดเล็ก และส่วนมากแบตเตอรีจะอยู่ได้นานทั้งวันครับ อย่างอื่นไม่ได้มีประโยชน์อะไรที่เหนือไปกว่าใช้สมาร์ทโฟนเลย (ปัจจุบันสมาร์ทโฟนในตลาดส่วนมากสามารถปล่อย Personal Hotspot ได้แล้ว)

กล่องยังชีพ ที่ผมพกทุกครั้งเมื่อเดินทางต่างประเทศ

ทุกครั้งที่ผมเดินทางต่างประเทศ ผมจะพกกล่องนี้ไปทุกครั้งครับ ในนี้ก็จะประกอบไปด้วยเข็มสำหรับถอดถาดซิมการ์ด (สำหรับไอโฟนและแอนดรอยด์บางรุ่น), อะแดปเตอร์แปลงขนาดซิมการ์ด (จากนาโนเป็นไมโคร) และ ซิมการ์ดท้องถิ่นของประเทศที่จะเดินทางไป (ในกรณีที่มีซิมอยู่แล้ว)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

โดยวิธีของผมคือ ผมจะพกโทรศัพท์มือถือไปอีก 1 เครื่องเสมอ และจะทำการสลับซิมการ์ดบนเครื่องบิน ก่อนที่เครื่องจะลงจอดที่สนามบินปลายทาง ส่วนมากก็จะทำไปพร้อมๆ กับตอนที่เราต้องกรอกแบบฟอร์ม ตม. เข้าประเทศปลายทางนั่นแหละ ถอดซิมการ์ดของไทยมาใส่เครื่องสำรอง โดยเครื่องสำรองของผมจะ sync เอา contacts ใส่เอาไว้ล่วงหน้า เวลาที่มีคนโทรเข้าเบอร์ไทยตอนที่เราอยู่ต่างประเทศ จะได้รู้ว่าใครโทรมาครับ เพื่อที่จะตัดสินใจรับหรือไม่รับสายนั้นๆ ได้ (ที่เครื่องสำรองนี้ ผมจะปิด Data Roaming ไว้ และใช้เพื่อโทรออก/รับสายอย่างเดียว) ส่วนเครื่องหลัก ก็ใส่ซิมการ์ดท้องถิ่นของประเทศปลายทางรอไว้ หรือถ้าตั้งใจจะไปซื้อซิมการ์ดที่สนามบิน ก็ค่อยไปซื้ออีกที

เหตุที่ต้องสลับซิมไทยออกมาจากเครื่องหลัก ในกรณีที่ไม่ได้เปิด Data Roaming ไปจากไทย ก็เพื่อที่ว่าเวลาเราใช้ซิมการ์ดท้องถิ่นของประเทศปลายทาง (ซึ่งมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้) เราจะยังสามารถใช้แอพต่างๆ ที่เราใช้งานประจำต่อได้เลยทันที โดยไม่ต้องโอนถ่ายข้อมูลครับ ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook, Instagram หรืออีเมลต่างๆ ก็ยังใช้ต่อได้อย่างราบรื่น ส่วนเบอร์ไทยที่ไม่ได้เปิดแพ็กไว้ ก็ถอดมาใส่มือถืออีกเครื่อง เอาไว้รับสายหรือโทรกลับไทยในกรณีฉุกเฉินก็พอ แต่ถ้าทริปไหนตัดสินใจจะเปิดแพ็ก Data Roaming ไปจากไทย ก็ไม่ต้องสลับซิมให้ยุ่งยาก แค่เลือกเครือข่ายให้ถูกต้องแล้วใช้งานได้เลย

อ่านดูแล้วก็ลองไปปรับใช้กับการเดินทางของเราในครั้งถัดไปดูนะครับ การใช้อินเทอร์เน็ตที่ต่างประเทศไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่ต้องเข้าใจหลักการทำงานของมันเท่านั้นเอง และก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับสถานที่ที่เราเดินทางด้วยนะครับ ให้มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เราเดินทางได้ราบรื่นมากขึ้น ดีกว่าก้มหน้าก้มตาทั้งวัน ระวังจะพลาดอะไรดีๆ ระหว่างเดินทางได้นะ

เจอกันใหม่ blog หน้าครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save