ทุกครั้งที่มีเราโดยสารด้วยเครื่องบิน สิ่งที่ทุกคนต้องผ่าน ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ก็คือเครื่องสแกน หรือที่หลายคนเรียกว่า X-ray ใช่มั้ยครับ และก็มักจะเป็นที่น่ารำคาญทุกๆ ครั้ง ที่คิวสแกนจะยาวเป็นหางว่าว ใช้เวลานานกว่าจะผ่านได้ วันนี้เรามาดูวิธีผ่านเครื่องสแกนแบบชิลๆ กันดีกว่า
ระบบรักษาความปลอดภัยของสนามบินทั่วโลก จะบังคับให้ผู้โดยสารทุกคนผ่านเครื่องตรวจ หรือ ที่เราเรียกว่าเครื่องสแกน ก่อนขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ครับ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 เครื่อง คือเครื่องตรวจมนุษย์ ที่มีลักษณะเป็นประตู ต้องเดินผ่าน (หรือถ้าใหม่ๆ ก็จะเป็นเครื่องสแกนทั้งร่างกาย ที่ต้องไปยกมือนิ่งๆ ค้างไว้) และ เครื่องตรวจสัมภาระที่ถือขึ้นเครื่อง มีลักษณะเป็นสายพาน เข้าเครื่อง X-ray โดยมีเจ้าหน้าที่ดูหน้าจอกันแบบชิ้นต่อชิ้น (อันนี้ไม่นับรวมกระเป๋าที่โหลดไปใต้เครื่องนะครับ ที่จะใช้วิธีการสแกนอีกรูปแบบหนึ่ง)
Metal Detector
เครื่องตรวจมนุษย์ที่มีลักษณะเป็นประตูให้เราเดินผ่านนั้น มีจุดมุ่งหมายหลักคือการตรวจโลหะเท่านั้น (metal detector) ในขณะที่เครื่องตรวจแบบ full body scanner ที่ต้องให้เราไปยืนยกมือค้างไว้นิ่งๆ สักพัก อันนั้นก็จะสามารถตรวจได้ละเอียดมากขึ้น โดยต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูหน้าจอ ว่าเครื่องสแกนค้นพบอะไรบ้าง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือค้นหาโลหะที่เรานำติดตัวขึ้นเครื่องบินไปด้วย
ทำไมต้องตรวจโลหะ?
จุดประสงค์หลักของการสแกนหาวัตถุต้องสงสัยของผู้โดยสาร คือ การหาอาวุธ และ วัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อเครื่องบินโดยสาร ผู้โดยสาร หรือ วัตถุที่สามารถใช้ในการก่อเหตุร้ายได้ ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นอาวุธที่มีส่วนประกอบของโลหะ จึงส่งผลต่อวัตถุโลหะทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องถือติดตัวไปด้วย ทั้งหัวเข็มขัด กระเป๋าสตางค์ เหรียญต่างๆ พวงกุญแจ นาฬิกาข้อมือ รองเท้าบางประเภท เป็นต้น
เครื่องตรวจโลหะ ทำงานอย่างไร?
เครื่องตรวจโลหะที่เป็นประตู แบบที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นเครื่องตรวจโลหะแบบ Pulse Induction (PI) โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ปล่อยเป็นลูกคลื่นแม่เห็ลกไฟฟ้าออกไป และตรวจรับการสะท้อนของลูกคลื่นดังกล่าวกลับมา โดยแต่ละลูกคลื่นที่ปล่อยออกไป จะมีความเร็วสูงมากๆ (อาจเร็วถึง 1/1,000,000 วินาที แล้วแต่ผู้ผลิต) เมื่อเครื่องตรวจจับคลื่นที่สะท้อนกลับมา ก็จะรู้ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวไปกระทบกับโลหะอื่นๆ หรือไม่ เพราะการที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระทบกับโลหะ จะทำให้ช่วงคลื่นและความเร็วคลื่นที่สะท้อนกลับมาเปลี่ยนไป ส่งผลไปให้เครื่องตรวจจับดังเป็นสัญญาณออกมาว่า อาจมีโลหะอยู่ในรัศมีของประตูนั้น
เครื่องตรวจโลหะที่ใช้อยู่ตามสนามบิน ก็มาจากหลากหลายผู้ผลิต และถูกตั้งค่ามาไม่เท่ากันครับ บางสนามบิน เราสามารถเดินผ่านด้วยโลหะบางชิ้นได้โดยไม่มีสัญญาณดังขึ้นมา นั่นเป็นเพราะแต่ละสนามบินถูกตั้งค่าความเข้มของการตรวจโลหะไว้ไม่เท่ากัน เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร แต่ถ้าเป็นโลหะหนัก เช่น ปืนทั้งกระบอก ก็ไม่ผ่านแน่นอน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระดับการรักษาความปลอดภัยในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย (ถ้าเป็นช่วงที่เพิ่งมีเหตุก่อการร้าย หรือได้รับแจ้งเตือนมา ก็จะต้องตรวจกันละเอียดขึ้น)
อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจโลหะแบบ Pulse Induction นี้ มีผลกระทบต่อเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (pacemaker) ของผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่จะถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินผ่านเครื่องตรวจประเภทนี้โดยเด็ดขาดครับ (สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สนามบิน เพื่อทำการตรวจแยกต่างหากได้)
เครื่องตรวจแบบ Full Body Scanner
ในสนามบินใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก เริ่มมีการใช้เครื่องสแกนแบบ Full Body Scanner หรือเครื่องสแกนที่เราต้องเข้าไปยืน ยกมืออยู่นิ่งๆ สักพัก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูผลการสแกนจากหน้าจอ เครื่องตรวจประเภทนี้ สามารถตรวจได้ละเอียดขึ้น ไม่เพียงเฉพาะโลหะเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจหาวัตถุอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลหะ ที่ซ่อนอยู่ตามร่างกายได้ด้วย ให้ความแม่นยำสูง และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายขึ้นหลังโศกนาฏกรรม 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา
เครื่องตรวจแบบ Full Body Scanner มีข้อดีกว่าเครื่องตรวจโลหะทั่วไป ตรงที่มีความแม่นยำ และมีความรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องถอดแจ็กเกตออกก็ได้ (แต่เจ้าหน้าที่สนามบินมักจะให้ถอดอยู่ดี) ลดการเสียเวลาของการค้นร่างกายไปได้มาก เพราะหน้าจอมักจะบอกทุกสิ่งที่ซ่อนอยู่ตามร่างกายอยู่แล้ว จะแอบเอาวัตถุแปลกปลอมขึ้นเครื่อง ถ้าผ่านเครื่องนี้ก็รอดยากครับ
ทั้งการตรวจค้นร่างกายแบบตรวจโลหะ และ ตรวจผ่าน Full Body Scanner หากเจ้าหน้าที่สนามบินไม่แน่ใจ ก็จะมีการตรวจค้นอีกครั้ง ด้วยเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องตรวจโลหะแบบพกพา และใช้มือค้นตามร่างกาย (Strip Search) เป็นการตรวจตามมาตรฐานสากล ว่ากันไม่ได้
เครื่อง X-ray สัมภาระ
ของทุกชิ้นที่เราถือขึ้นเครื่อง (carry-on items) จำเป็นที่จะต้องผ่านเครื่อง X-ray บนสายพาน เพื่อตรวจหาวัตถุต้องสงสัย โดยจะเป็นการตรวจโดยใช้สายตาเจ้าหน้าที่กันแบบชิ้นต่อชิ้น ซึ่งหลักการของเครื่อง X-ray สัมภาระก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ตัวเครื่องจะตรวจหาวัตถุ 3 ประเภท และแบ่งเป็นสีเพื่อแสดงบนหน้าจอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย โดย 3 ประเภทนั้นคือ วัตถุอินทรีย์ (organic), วัตถุอนินทรีย์ (inorganic) และ โลหะ (metal) ซึ่งสิ่งสำคัญของการ X-ray สัมภาระ ไม่ใช่โลหะอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นวัตถุอินทรีย์ (organic) ซึ่งมักเป็นส่วนผสมสำคัญของวัตถุระเบิด และหน้าจอจะแสดงวัตถุอินทรีย์ (organic) ด้วยสีส้มเสมอ
มาตรฐานของเหลวปัจจุบัน ที่ถูกจำกัดให้มีปริมาณน้อยกว่า 100 มล. ต่อหนึ่งขวดบรรจุ ต้องแยกบรรจุใส่ถุงซิปล็อกใส ขนาด 1 quart และไม่เกิน 1 ถุงต่อผู้โดยสาร ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ขั้นตอนการตรวจสแกนสัมภาระปัจจุบันต้องเสียเวลามากขึ้น และสามารถมองเห็นของเหลวได้ผ่านหน้าจอของเครื่องสแกนลักษณะนี้เช่นกัน
ระบบคอมพิวเตอร์ของเครื่อง X-ray ในสนามบินส่วนมาก สามารถที่จะแจ้งเตือนได้อัตโนมัติหากพบวัตถุที่มีหน้าตาเหมือนกับที่ระบบได้โปรแกรมไว้ เช่น ปืน, มีด, มีดพับ, กรรไกร, ลูกกระสุน, ฯลฯ บนหน้าจอ รวมถึงวัตถุเสมือนระเบิด หรือวัตถุที่อาจเป็นส่วนผสมของระเบิด (IED) ที่ผู้โดยสารอาจนำไปประกอบเป็นระเบิดได้ในภายหลัง ก็ไม่รอดจากการตรวจด้วยเครื่องพวกนี้เหมือนกันครับ
หากมีความไม่แน่ใจเกิดขึ้น ในบางสนามบินจะมีการตรวจหาสารระเบิดอีกหนึ่งขั้น ด้วยการนำกระดาษมาป้ายตามสัมภาระต้องสงสัย และนำไปเข้าเครื่องอ่านค่าหาสารระเบิด (cheminal sniffer) เพื่อความแน่ใจ ผมเองก็เคยโดนสุ่มตรวจบ่อยๆ โดยเฉพาะสนามบินในโซนยุโรป และ สหรัฐฯ
เทคนิคการผ่านเครื่องสแกนอย่างราบรื่น ไม่เสียเวลา
1. แต่งตัวให้พร้อม
เรื่องนี้สำคัญนะครับ ขึ้นเครื่องบิน ไม่ได้ไปกาล่าดินเนอร์ ไม่ต้องแต่งตัวอลังการมากเกินตัว เพราะนอกจากจะนั่งไม่สบาย นอนไม่สะดวกแล้ว กว่าจะผ่านขั้นตอนการสแกนได้ ต้องถอดหลายชิ้น โดยเฉพาะไฟลต์ยาวๆ ข้ามทวีป กางเกงยางยืด รองเท้าสวมสบาย ถอดง่าย ใส่ง่าย ก็จะช่วยได้มากทั้งตอนสแกน และตอนหลับบนเครื่องครับ
หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง (นอกจากไม่สบายแล้วยังไม่ปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินด้วย), คอนแทคเลนส์, เสื้อผ้ารัดรูป และ เสื้อหนาวตัวใหญ่ๆ นะครับ
2. แพ็กของเหลว
สบู่เหลว แชมพู ครีม โฟมล้างหน้า ยาน้ำ สเปรย์ต่างๆ ขนาดไม่เกิน 100 มล. ต่อขวด รวมแล้วแพ็กใส่ถุงซิปล็อกใส 1 ถุง ควรแพ็กมาจากบ้านให้เรียบร้อย และให้ถุงนี้อยู่ในตำแหน่งที่หยิบจากกระเป๋าได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลาในการค้นที่หน้าเครื่อง X-ray ให้เสียเวลาทั้งตัวเองและคนอื่น
3. โน้ตบุ๊ก
เหมือนกันครับ แพ็กให้อยู่ในตำแหน่งที่หยิบออกมาได้ง่าย เพราะสนามบินส่วนมากบังคับให้แยกโน้ตบุ๊ก แทบเล็ต ออกมาจากสัมภาระอื่นๆ ตอนผ่านเข้าเครื่องสแกน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ซับซ้อน พอไปปะปนกับของอื่นๆ ในกระเป๋าแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจดูได้ค่อนข้างยาก
4. รองเท้า
หลายสนามบิน รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ มักจะบังคับให้ถอดรองเท้าเพื่อใส่ถาด เข้าเครื่องสแกนเช่นกัน รองเท้าที่ใส่ขึ้นเครื่องบินควรเป็นรองเท้าที่ถอดง่าย และใส่ง่ายครับ
5. ของมีค่าติดตัว
เข็มขัด กระเป๋าสตางค์ เหรียญ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาข้อมือ ผมมักจะถอดอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ ใส่ไว้ในช่องหนึ่งของกระเป๋า carry-on ก่อนเข้าแถวเพื่อผ่านเครื่องสแกนครับ นอกจากจะรวดเร็ว ไม่ต้องไปถอดทีละชิ้นเพื่อวางในถาดแล้ว ยังไม่เสี่ยงต่อการลืมของไว้ในถาดสแกนด้วย ลองทำดูนะครับ สะดวกกว่า และคนข้างหลังก็ไม่หงุดหงิดด้วยครับ
6. ผลักกระเป๋า และ ถาดสัมภาระเข้าเครื่องสแกนด้วยตัวเอง
หน้าที่ในการยกกระเป๋า และส่งกระเป๋าเข้าสายพานเครื่องสแกน เป็นของผู้โดยสารทุกคนครับ นอกจากจะช่วยให้ขั้นตอนรวดเร็วแล้ว ยังลดปัญหาสัมภาระผ่านเครื่องสแกนไปก่อนที่เราจะผ่านการสแกนด้วย นั่นคือการลดความเสี่ยงที่ของเราจะหายนะครับ พอเราได้คิวเข้าเครื่องสแกนแล้ว จึงค่อยผลักกระเป๋าหรือถาดสัมภาระของเราเข้าเครื่องสแกนครับ ตรวจเสร็จก็รับของได้เลย มักจะพอดีกัน
7. ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สนามบิน
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหลายสนามบิน มักจะเข้มงวดต่างกัน แต่ก็ขอให้คิดเอาไว้ว่า เข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของทุกคนครับ ไม่มีเจ้าหน้าที่อยากจะกวนตีนในขั้นตอนนี้ให้เสียเวลาหรอกครับ แต่เขาถูกอบรมมาให้ระมัดระวังบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจไม่ทันสังเกต ซึ่งบางอย่างอาจจะน่าหงุดหงิดไปบ้าง ใจเขาใจเรานะครับ