สอนทำ “Status Match” ให้ได้บัตรสมาชิกระดับสูงสุดของโรงแรมแต่ละเครือ โดยไม่ต้องไปพักจริง

blog วันนี้ยาวหน่อยนะครับ แต่รับรองว่ามีประโยชน์สำหรับคนเดินทางแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ใช้บริการโรงแรมในเครือใหญ่ๆ อยู่เป็นประจำ ที่ผมจะทำให้แต่ละท่านได้สิทธิ์ระดับบัตรทอง, แพลทินัม, ไดมอนด์ ของแต่ละเครือได้โดยวิธีทางลัดครับ

Disclosure: บทความนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน และไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากโรงแรม, สายการบินหรือตัวแทนที่เกี่ยวข้อง

โรงแรมเครือใหญ่ๆ มักจะมีระบบบัตรสมาชิก ที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเข้าพักกี่คืน ภายในระยะเวลา 12 เดือน จึงจะได้รับสถานะสมาชิกตามที่กำหนดครับ เช่น โรงแรมในเครือ Hilton ก็จะมีระบบสมาชิกที่ชื่อ HHonors ที่กำหนดว่า ต้องเข้าพัก 20 ครั้ง หรือ 40 คืน ภายใน 1 ปี จึงจะได้สถานะ HHonors Gold เป็นต้น ซึ่งสิทธิพิเศษของสมาชิกระดับพรีเมียมของแต่ละเครือโรงแรมก็จะแตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากแล้ว มักจะเป็นสิทธิ์ในการได้รับอัพเกรดห้องพักขณะเช็กอิน ไปเป็นห้องพักระดับเทพๆ (เช่นห้อง Suites หรือห้องที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่เราจองมา และมักมีราคาค่าห้องที่แพงมากๆ) ได้แบบฟรีๆ , สิทธิ์ในการ Late check-out ไปเป็นเวลา 4 โมงเย็นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย , หรือ สิทธิ์ฟรี breakfast สำหรับ 2 คน แม้ว่าราคาค่าห้องที่จองมาจะเป็นแบบไม่รวมอาหารเช้าก็ตาม

แน่นอนครับ การที่จะเข้าพักโรงแรมตามเงื่อนไขที่แต่ละเครือกำหนด เพื่อให้ได้สถานะสมาชิกระดับสูงๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เอาแค่ว่า ปีนึง ต้องเข้าพัก 40 คืน ในเครือใดเครือหนึ่ง ก็แทบแย่แล้วครับ (ปีนึง นอนโรงแรมไปเดือนกว่าเลยนะ) ดังนั้น วันนี้เรามาดูทางลัดกันครับ

Status Match คืออะไร?

ก่อนจะเริ่ม ก็มารู้จักกับคำว่า Status Match กันก่อนเลยครับ “Status Match” หรือ “Tier Match” ในความหมายของกลุ่มโรงแรมนั้น หมายถึงการที่เรานำสถานะสมาชิกของกลุ่มโรงแรมหนึ่ง ไปทำการ “ขอเทียบ” กับอีกกลุ่มโรงแรมหนึ่งที่เรายังไม่มีสถานะสมาชิกครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นสมาชิกระดับ Gold ของ Hilton อยู่ ผมก็อาจจะทำสถานะ Hilton Gold นี้ ไปขอเทียบ หรือขอทำ Status Match กับกลุ่ม Marriott เพื่อให้ได้สถานะ Marriott Gold ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเข้าพักที่ Marriott เลยแม้แต่คืนเดียว!

ทำไมถึงทำได้?

การที่เครือโรงแรมหลายเครือ เปิดให้ทำ Status Match ได้นั้น ก็เพื่อต้องการดึง หรือแย่งลูกค้าระดับเทพๆ ของคู่แข่ง มาเป็นลูกค้าของตนเองบ้างครับ เปิดทางเลือกเพิ่มเติมให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ ที่อาจจะมีไลฟ์สไตล์ในการเข้าพักโรงแรมบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือ นักธุรกิจ ดังนั้น การเปิดให้ทำ Status Match นี่ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดของเครือโรงแรมต่างๆ ซึ่งมันทำให้เราเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากการทำ Status Match ได้เช่นกัน

ไม่ใช่แค่โรงแรม แต่สายการบินก็มี Status Match 

จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่กลุ่มโรงแรมครับ ที่มีการเปิดให้ทำ Status Match ได้ แต่สายการบินต่างๆ ที่มีระบบสมาชิกก็มีการเปิดให้ทำ Status Match ได้เช่นกัน เช่นผมเป็นสมาชิกบัตรทอง Star Alliance ของการบินไทย ก็อาจจะไปขอเทียบ Status ระดับบัตรทองกับสายการบินอื่นๆ ได้ (รวมถึงสายการบินที่ไม่ใช่กลุ่ม Star Alliance) หากสายการบินนั้นๆ เปิดให้มีการทำ Status Match ซึ่งอาจจะไม่ได้เปิดให้ทำตลอดเวลา แต่ก็มักจะมีเปิดให้ได้เห็นอยู่เรื่อยๆ นะครับ

ต้องทำยังไงบ้าง?

ต้องบอกก่อนว่า จุดเริ่มต้นของการทำ Status Match เนี่ย ไม่ใช่ว่าใครๆ จะเริ่มทำได้นะครับ เพราะอย่างน้อยๆ เราก็ต้องมีสถานะสมาชิกของอะไรสักอย่างอยู่ 1 อันก่อน เพื่อที่จะไปขอเทียบใช้กับสมาชิกในกลุ่มอื่นๆ ครับ (หากเราไม่ได้เป็นสมาชิกของอะไรเลย หรือไม่ได้มี Status ของอะไรเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะไปขอใช้บัตรทองของกลุ่มใดๆ ก็ตาม) ดังนั้น ขอแนะนำการทำ Status Match นี้ ให้กับผู้ที่ถือบัตรทอง หรือ บัตรแพลทินัม ของเครือโรงแรมสักเครือนึงก่อนนะครับ แล้วมันจะนำพาไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้ไม่ยาก

ทางลัดในการเริ่มต้น

หลายคนบอกว่า เอาแค่บัตรทองของโรงแรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าจะทำเองแบบไปเข้าพักจริงตามเงื่อนไขที่กำหนดของแต่ละเครือโรงแรม ก็ถือว่ายากมากแล้วครับ ดังนั้น ผมขอแนะนำทางลัดกับบัตรเครดิตบางใบ โดยเฉพาะที่เป็น VISA Infinite นั้น สามารถที่จะขอสถานะ Hilton Gold ได้เลยครับ เพราะเป็นสิทธิ์ที่ติดมากับ VISA Infinite อยู่แล้ว (หากไม่ได้มีระบุไว้ในสมุดคู่มือ ให้โทรหาคอลเซ็นเตอร์เพื่อขอได้เลย) หรือบัตร Platinum American Express ก็ให้สิทธิ์ Hilton Gold บวกกับ SPG Gold โดยถือว่าเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของสมาชิกบัตรแบบฟรีๆ โดยไม่ต้องเข้าพักตามเงื่อนไขเลยเช่นกันครับ

หรือถ้าใครไม่ได้ถือบัตรเครดิตดังกล่าว แต่มีโอกาสได้เข้าพักโรงแรมอยู่เป็นประจำ ผมแนะนำให้ผูกติดไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนได้สถานะ Gold มาก่อน พอหลังจากนั้น เครืออื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่ยังไม่เข้ากฎเกณฑ์เลยสักข้อ ก็อย่าเพิ่งท้อใจครับ มันยังมีวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้ได้ Elite Status แบบที่ไม่ต้องพักให้ครบตามเงื่อนไขก็ได้ ไปดูกันต่อนะ

เริ่มทำ Status Match!

พอเรามี Status อยู่ในมือแล้ว (หรือยังไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ) ก็มาถึงขั้นตอนของการทำ Status Match ครับ โดยปกติแล้ว กลุ่มโรงแรมต่างๆ จะเปิดให้ทำ Status Match อยู่เรื่อยๆ รวมถึงบางกลุ่ม ก็เปิดให้ทำการ request ผ่านอีเมลเข้าไป และจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปด้วย ซึ่งธรรมชาติของการทำ Status Match จะได้ผลลัพธ์ออกมา 3 แบบ คือ

  • Matched: อันนี้ชัดเจนครับ คือเราร้องขอ Status ไป และได้การตอบรับกลับมา เราก็จะได้เป็นสมาชิกในระดับเท่าเทียมกันของอีกกลุ่มโรงแรมทันที ซึ่งก็อาจจะมีอายุ 1 ปี หรือ 1 ช่วงสมาชิก (อาจนานกว่า 1 ปี หรืออาจสั้นกว่านั้นก็ได้)
  • Denied: อันนี้ก็ชัดเจนอีกเหมือนกัน คือมีการปฏิเสธกลับมา อาจจะด้วยเหตุผลหลากหลายประการ เช่น ยังไม่มีการเปิดให้ทำ Status Match ในตอนนั้นๆ หรือ สถานะของเรายังไม่ qualify ที่จะไปเทียบกับสถานะของสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งได้ เป็นต้น
  • Challenge: อันนี้สนุกเลยครับ คือตอบรับแบบมีเงื่อนไข และมักจะเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ไม่ยากเกินไปนัก เช่น สถานะ SPG Gold ปกติแล้วต้องพัก 25 คืน ภายใน 1 ปี แต่ถ้าเป็นการ Challenge ก็อาจจะเหลือแค่ ต้องเข้าพัก 9 คืน ภายในระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น ถ้าทำได้ ก็เอาสถานะ SPG Gold ไปเลย!

จะรู้ได้ยังไงว่าที่ไหนเปิดให้ทำ Status Match / Status Challenge

ส่วนมากเครือโรงแรม หรือสายการบินต่างๆ จะสื่อสารตามช่องทางของตนเองอยู่เรื่อยๆ ครับ และมักจะเป็นช่วงต้นปี ที่จะประกาศว่า ปีนี้จะมี Status Match ยังไงบ้าง เงื่อนไขเป็นอย่างไร บางที่ก็จะออกมาเป็นแคมเปญให้ Challenge เลยโดยไม่ต้องยื่นเอกสารอะไรไปขอทั้งนั้น

เว็บไซต์ที่ผมแนะนำให้ใช้เป็น reference คือเว็บ Status Matcher (www.statusmatcher.com) เว็บนี้รวบรวมให้คนที่ทำ Status Match สำเร็จหรือไม่สำเร็จ เข้ามารายงานผลครับ ว่าได้ทำการ Match จากสถานะของเครืออะไร ไปเป็นสถานะของเครืออะไร (รวมถึงสถานะของสายการบินด้วย ไม่ใช่แค่โรงแรม) ดังนั้น เราสามารถดูเป็นไกด์ไลน์ได้นะครับ ถ้าใคร Match อะไรสำเร็จ และเราก็เป็นสมาชิกแบบเดียวกันอยู่นั้น ก็ไปลองทำตามกันได้เลย

อีกทางหนึ่ง ผมแนะนำว่าให้ลองหาข่าวจากเว็บที่รวบรวมสิทธิ์ของ member เหล่านี้ เช่นเว็บ LoyaltyLobby หรือเว็บ ThePointsGuy เป็นต้น มักจะมีอัปเดตมาบอกกล่าวกันอยู่บ่อยๆ ว่าเครือไหนเปิดให้ทำ Status Match ได้บ้าง หรือมี Challenge อะไรบ้างที่เปิดให้เราได้สถานะสูงๆ แบบทางลัดครับ

ปีนี้ (2017) มีที่ไหนเปิดอยู่บ้าง?

Starwood Preferred Guest (SPG)

ปีนี้ ที่ผมขอแนะนำเลย คือของกลุ่ม Starwood หรือที่เราเรียกว่าสมาชิก SPG ครับ กลุ่มนี้เป็นเครือโรงแรมหรูๆ น่าสนใจอยู่หลายโรงแรม เช่น W Hotel, Sheraton, St. Regis, Le Meridien, Westin, Aloft, ฯลฯ) โดยปี 2017 นี้ ทาง Starwood เปิดให้ทำ Status Challenge ทั้งสถานะ Gold และ Platinum เลยครับ มีเงื่อนไขดังนี้

สถานะ SPG Gold ต้องเข้าพัก 9 คืน ภายใน 3 เดือน (จากปกติต้องเข้าพักมากถึง 25 คืน ใน 1 ปี) หรือถ้าจะทำ SPG Platinum ต้องเข้าพัก 18 คืน ภายใน 3 เดือน (จากปกติ 50 คืน ใน 1 ปี) โดยเราสามารถเลือกช่วงเวลา 3 เดือนที่เราต้องการได้ด้วยครับ หากทำได้ ก็รับสถานะ Gold/Platinum แบบยาวๆ ไปจนถึง 28 ก.พ. 2019 เลย

ใครสนใจทำ SPG Gold/Platinum Challenge ของปีนี้ เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.spgpromos.com/statuschallenge/ ซึ่งผมแปลกใจมากๆ ว่าหน้าเว็บนี้ไม่ถูกโปรโมตเลย และไม่มีทางเข้าจากหน้าเว็บโปรโมชั่นของ SPG ด้วย จะบอกว่าเป็นโปรลับก็น่าจะไม่ผิดครับ

Marriott Rewards 

หากใครได้ติดตามข่าว จะรู้ว่า Marriott ได้ควบรวมกิจการกับกลุ่ม Starwood เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แต่ยังแยกโปรแกรมสมาชิกกันอยู่) ซึ่งสมาชิก SPG สามารถทำ Status Match กับ Marriott/Ritz-Carlton ได้ทันทีครับ เพราะเป็นเจ้าของเดียวกันไปแล้ว ใครที่เป็น SPG Gold ก็แมตช์มาเป็น Marriott Rewards Gold Elite ได้เลย หรือจะแมตช์ในทางกลับกันก็ได้ครับ

เข้าดูรายละเอียด และกดเชื่อมบัญชี SPG/Marriott ได้ที่ http://www.marriott.com/marriott-rewards/connect-my-accounts.mi

Hilton Honors

ปีนี้ Hilton เปิดให้ทำ Status Match ได้แบบมีเงื่อนไข แต่ว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ไม่ยากเลย นั่นคือ เราต้องกรอกรายละเอียด และ แสดงสถานะของเครือโรงแรมอื่นๆ พร้อมประวัติการเข้าพักโรงแรมในเครือนั้นๆ ย้อนหลัง 12 เดือนไปให้ทาง Hilton ครับ จากนั้น Hilton จะทำการตอบรับว่าได้ทำการแมตช์สถานะ HHonors อะไรให้เรา (เป็นไปได้ทั้ง Gold และ Diamond)

แต่ที่เด็ดกว่าใครๆ ก็คือ Hilton จะให้สถานะใหม่กับเรามาล่วงหน้าเลยครับ เช่น ถ้าได้ Diamond สถานะในบัตร HHonors ของเราจะเป็น Diamond เลย แบบยังไม่ทันได้เข้าพักสักคืน แต่ว่าจะให้สถานะนี้แค่ 3 เดือนนะครับ ภายใน 3 เดือนนี้ เราต้องเข้าพักในเครือ Hilton ครบ 4 ครั้ง (สำหรับสถานะ Gold) หรือ ครบ 8 ครั้ง (สำหรับสถานะ Diamond) เพื่อที่เราจะได้รับการต่ออายุสถานะ Gold/Diamond ไปจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2019 ครับ

หลังทำ Challenge สำเร็จ ก็ได้สถานะ Diamond ยาวๆ ไปจนถึง 31 มี.ค. 2019 เลย

ใครสนใจ ก็เข้าไปส่งเอกสารในการทำ Status Match ของ Hilton ได้ที่ https://hiltonhonors.hiltonapps.com/ หลังกดส่งแล้ว รอประมาณ 3-4 วันทำการ ก็จะได้รับอีเมลตอบกลับมาว่าเราต้องทำเงื่อนไขอะไรบ้างครับ

ส่วนโรงแรมค่ายอื่นๆ ก็ยังมีเปิดเรื่อยๆ นะครับ อย่างปีที่แล้ว Hyatt ก็เปิดให้ทำ Status Match แต่ก็จะมีช่วงระยะเวลาจำกัดครับ


สรุป

เป็นทริกที่ผมขอแนะนำให้คนเข้าพักโรงแรมบ่อยๆ รวมถึงคนที่เดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยๆ ควรศึกษาครับ ว่ามีระบบการทำ Status Match อยู่ด้วย ซึ่งเป็นทางลัดที่ทำให้ผมถือสถานะระดับ Gold/Platinum/Diamond ของเครือโรงแรมต่างๆ เกือบทุกเครืออยู่ตอนนี้ พอได้สถานะมาแล้ว จะเข้าพักที่โรงแรมอะไร ก็สบายมากๆ เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการจองด้วยตัวเอง หรือบริษัทฯ ใดๆ จองมาให้ ตอนเช็กอินก็มักจะได้รับการอัพเกรดห้องอยู่เสมอ ถ้าผมกดจองโรงแรมเอง ก็เลือกจองห้องที่มีราคาถูกที่สุดแบบไม่รวมอาหารเช้าเอาไว้ก่อนเลย เพราะสุดท้าย สิทธิประโยชน์จากบัตรสมาชิกเหล่านี้ ก็จะพาเราไปอยู่ในห้องที่มี category สูงกว่าอยู่แล้ว แถมบางเครือโรงแรม ยังได้อาหารเช้าฟรี 2 คนทุกเช้าอีกด้วยครับ

ในส่วนของสายการบิน อาจจะทำการแมตช์ยากกว่ากลุ่มโรงแรมอยู่บ้างนะครับ แต่เท่าที่ผมเคยแมตช์ได้ คือทำการส่งอีเมลเข้าไปในส่วนของการดูแลสมาชิกของสายการบินที่ต้องการ รีเควสเข้าไปเลยครับ ว่าต้องการทำ Status Match และแนบหลักฐานว่าเราเป็นสมาชิกของสายการบินใด ในระดับใดอยู่ แต่ที่สำคัญก็คือ หากมีหลักฐานการจองเที่ยวบินในอนาคตของสายการบินที่เราต้องการจะแมตช์ด้วย (ยิ่งเยอะยิ่งดี) แนบไปด้วย ก็จะมีโอกาสได้รับการแมตช์มากขึ้นครับ

ขอให้เดินทางอย่างมีความสุขทุกท่าน พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save