ขึ้นเครื่องบิน เลือกที่นั่งตรงไหนดีที่สุด?

เป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม หรือไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน เพราะคิดเอาเองว่านั่งตรงไหนก็เหมือนกัน หรือบางคนก็เลือกแค่ริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่าง โดยไม่ได้สนใจหรอก ว่าแท้จริงแล้ว เราควรนั่งตรงไหนกันแน่?

ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องบินค่อนข้างมากมาโดยตลอด และผมจะบอกให้รู้เลยว่า มันมีผลต่อความสะดวกสบายในการเดินทางมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินสั้นหรือยาวแค่ไหน และไม่ว่าจะเดินทางด้วยชั้นโดยสารไหนก็ตาม โดยเฉพาะ Economy Class ที่ผมบอกได้เลยว่า ความสบายของแต่ละที่นั่งในเครื่องบินลำเดียวกันนั้น มีความแตกต่างอย่างมาก (ทั้งๆ ที่จ่ายเท่ากันนะเออ)

ทำไมต้องเลือกที่นั่งก่อนเดินทาง?

  • รู้หรือไม่ ว่าบนเครื่องบินลำเดียวกัน ชั้นโดยสาร Economy เหมือนกัน อาจมีพื้นที่วางขา (leg room / seat pitch) ไม่เท่ากัน แล้วเราจะไปนั่งที่แคบทำไม ในเมื่อเราเลือกได้ฟรี?
  • รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ?
  • รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ถึงจะเลือกติดหน้าต่างแล้ว แต่มันไม่มีหน้าต่าง!
  • รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ต้องทนเสียงดังของรถเข็นและอุปกรณ์ขณะที่ Air Hostess กำลังเตรียมจะเสิร์ฟ
  • รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ อยู่หน้าห้องน้ำ และชอบมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำข้างๆ เราอยู่ตลอด แถมบางทีก็ต้องทนกลิ่นเหม็นจากห้องน้ำด้วย

แล้วทำไมเราจะไม่เลือกล่ะครับ ในเมื่อเราเลือกได้!

original

ก่อนที่จะไปเลือกที่นั่ง มีสิ่งสำคัญ 3 อย่างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการเดินทางของเราครับ

1) สายการบินนั้น อนุญาตให้เราเลือกที่นั่งได้หรือไม่?

สายการบินพาณิชย์ส่วนมาก สามารถให้เราเลือกที่นั่งได้เอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งเกินกว่าครึ่งของผู้โดยสารปัจจุบัน ไม่ได้เลือกที่นั่งด้วยตัวเองเลย  รู้แค่ว่าจองๆ ซื้อๆ ไป ตอนเช็คอินเค้าให้นั่งตรงไหนก็นั่ง หรือต่อให้ในหน้าเว็บมีผังที่นั่งให้เลือก ก็เลือกไปแบบไม่ได้สนใจอยู่ดี ว่าที่นั่งไหนถึงจะดีที่สุด ในขณะที่บางสายการบิน ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเลือกที่นั่ง โดยเฉพาะสายการบินโลว์-คอสต์ เช่น AirAsia เป็นต้น หรือ บางสายการบิน ก็อนุญาตให้เลือกที่นั่งได้ฟรี แต่ต้องทำรายการก่อนที่จะเดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เช่น นกแอร์

2) หมายเลขเที่ยวบิน

อันนี้ทุกคนน่าจะต้องทราบอยู่แล้ว ว่าเรากำลังจะเดินทางด้วยเที่ยวบินไหน ของสายการบินอะไร ก็ให้จดออกมาครับ เพราะเราจะต้องเอามาใช้กรอกในเว็บที่ผมจะกล่าวถึงในภายหลัง

3) เดินทางกี่คน?

เป็นปัจจัยต้นๆ ของการเลือกที่นั่งครับ เพราะเราก็ต้องอยากนั่งติดกับเพื่อนหรือครอบครัวของเราแน่ๆ ไม่ได้อยากไปนั่งติดกับใครก็ไม่รู้ ที่ต้องไปลุ้นอีกว่า นางจะตัวใหญ่ไหม หรือ นางจะตัวเหม็นแค่ไหน ซึ่งจำนวนคนที่เราจะเดินทางด้วย มีผลในการเลือกที่นั่งอย่างมากครับ เพราะผังที่นั่งของเครื่องบินในชั้น Economy ก็จะมีทั้งแบบ 2 ที่นั่ง, 3 ที่นั่ง หรือ 4 ที่นั่งติดกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบินลำนั้นๆ

และศัพท์ที่ควรรู้ก่อนไปเลือกที่นั่งอีก 2 คำ คือคำว่า Width และ Pitch ครับ

Seat Width

คำว่า Width หรือที่แปลว่าความกว้าง ในที่นี้จะหมายถึงระยะห่าง จากขอบเบาะที่นั่งด้านหนึ่งไปถึงขอบเบาะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว Width ของที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) จะอยู่ที่ประมาณ 17′ – 18″ ถึงจะสามารถนั่งได้อย่างไม่อึดอัดครับ และ Seat Width ของที่นั่งในชั้นโดยสารเดียวกัน ในเครื่องบินลำเดียวกัน จะห่างเท่ากันเสมอ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนก็ตาม

seat-width

Seat Pitch

อีกหนึ่งคำที่ต้องรู้ และสำคัญมากๆ คือ Seat Pitch หรือว่าระยะห่างระหว่างขอบหลังสุดของเบาะที่นั่ง 2 แถวบนเครื่องบิน (เมื่อปรับเบาะขึ้นมาอยู่ในระดับตรง) ซึ่งเจ้า Seat Pitch นี่แหละครับ ที่แม้จะเดินทางในชั้นโดยสารเดียวกัน บนเครื่องบินลำเดียวกัน ก็อาจจะห่างไม่เท่ากันก็ได้ ด้วยข้อจำกัดของรูปร่างเครื่องบิน และความคุ้มค่าของสายการบินเอง ที่ต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงอาจทำให้ที่นั่งบางแถวแคบกว่าแถวอื่น (โดยที่ผู้โดยสารไม่รู้ตัว และไม่เคยมีบอกในตั๋วโดยสาร) เราเลยอาจจะสงสัยว่า ทำไมบางครั้งก็รู้สึกว่ามันกว้าง บางทีก็รู้สึกว่ามันแคบ ทั้งๆ ที่เดินทางด้วยสายการบินเดียวกันตลอด และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องเลือกที่นั่งที่ดีที่สุดบนเครื่องบินก่อนที่จะเดินทาง

อย่างไรก็ตามตัวเลข Seat Pitch ในเครื่องบินใหม่ๆ อาจจะแคบลงเล็กน้อย เพราะเทคโนโลยีที่นั่งปัจจุบันสามารถทำให้เบาะบางลงกว่าเดิมมากครับ ตัวเลข Seat Pitch ที่ผมแนะนำว่าสามารถนั่งได้แบบไม่อึดอัดเกินไปสำหรับเที่ยวบินไกลๆ คืออยู่ที่ราวๆ 31″ ขึ้นไปครับ

seat-pitch

เอาล่ะ … มาเลือกที่นั่งกัน

ในโลกนี้มีเว็บไซต์ที่ให้บริการแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินหลายเว็บเลยครับ แต่ที่ใช้ง่ายและสะดวกมากที่ผมแนะนำคือ SeatGuru.com (ของ TripAdvisor) ที่มีทั้งหน้าเว็บ และมีแอพบนมือถือด้วย หรืออย่าง SeatExpert.com, BestPlaneSeat.com ซึ่งเว็บพวกนี้ สามารถบอกเราได้ครบ ทั้งแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินเกือบทุกแบบ, บอก Seat Pitch และ Seat Width ได้, ระบุ Good Seat, Bad Seat บนเครื่องบินแบบนั้นๆ ได้ รวมถึงมีคอมเมนต์บางอย่างของที่นั่งบางที่ให้เรารู้ล่วงหน้า โดยสามารถค้นหาได้จากหมายเลขเที่ยวบิน และวันที่จะเดินทางได้เลย ตัวอย่างเช่น …

Screen Shot 2014-11-17 at 21.14.57

ผมสมมติว่าเราจะเดินทางกันด้วยการบินไทย เที่ยวบิน TG 910 วันที่ 20 พ.ย. นะครับ ก็กรอกข้อมูล 3 ส่วนนี้เข้าไป จากนั้นระบบของ SeatGuru ก็จะสามารถบอกข้อมูลเหล่านี้ออกมาครับ

Screen Shot 2014-11-17 at 21.16.41

จะเห็นได้ว่า เที่ยวบินนี้ใช้เครื่องบินแบบ Boeing 747 ซึ่งเราสามารถกดเข้าไปดูแผนผังที่นั่งต่อได้ และนี่จะเป็นส่วนที่เราต้องสนใจ เพื่อใช้ในการเลือกที่นั่งกับทางสายการบินต่อไปครับ

Thai_Airways_Boeing_747-400_7443

 

ข้อดีของ SeatGuru คือมันจะบอกเราเลยครับ ว่าที่นั่งไหนดี (สีเขียว), ที่นั่งไหนมีหมายเหตุต้องระวัง (สีเหลือง) และที่นั่งไหนไม่ดี (สีแดง) รวมถึงแผนผังที่นั่งของเครื่องบินทั้งลำ ว่าแบ่งที่นั่งออกเป็นกี่แถว แถวละกี่ที่นั่ง ตำแหน่งของห้องน้ำ และ Galley (ส่วนที่แอร์ฯ ใช้เตรียมอาหาร) อยู่ตรงไหน, ตำแหน่งของปีกอยู่ตรงไหน และ ตำแหน่งของทางออกฉุกเฉินทั้งหมด (ลูกศรสีแดง)ก็มีบอกเอาไว้ครบถ้วน

Screen Shot 2014-11-17 at 21.26.27

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก SeatGuru ยังบอกได้อีกครับ ว่าแต่ละที่นั่ง มีหมายเหตุอะไรบ้าง แค่เอาเมาส์ไปวางไว้บนที่นั่งนั้นๆ ก็จะมีข้อมูลบอกครบ เช่นที่นั่ง 35G นี้เป็นที่นั่งสีเหลือง (มีหมายเหตุต้องระวัง) ซึ่งระบุว่าเป็นที่นั่งแบบ Bulkhead หรือว่าที่นั่งแถวหน้าสุดของเซคชั่นนั้นๆ ข้อดีคือมีพื้นที่วางขาแบบล้นหลาม ไม่มีเบาะอยู่หน้าเรา แต่ก็จะไม่มีพื้นที่เก็บของใต้ที่นั่งด้านหน้า ที่นั่งตัวนี้ อยู่ใกล้ๆกับ Galley อาจจะมีเสียงดังจากการเตรียมอาหาร และถ้าใครสังเกตดีๆ จะมีรูปรถเข็นเด็กอยู่หน้าที่นั่งแถวนี้ นั่นแปลว่าเป็นตำแหน่งของที่แขวนเปลเด็ก ซึ่งอาจซวยได้หากเที่ยวบินนั้นมีเด็กเล็กครับ ควรหลีกเลี่ยงถ้าต้องการจะหลับยาวๆ บนเครื่องบิน เป็นต้น

Screen Shot 2014-11-17 at 21.30.21

อีกหนึ่งตัวอย่างครับ มาดูที่นั่ง 42H ของเครื่องบินลำนี้บ้าง อันนี้ระบุว่าเป็นที่นั่งสีแดง (Bad Seat) เลยทีเดียว เพราะว่าเป็นที่นั่งแถวหลังสุดของเซคชั่นนั้นๆ ทำให้เบาะปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ แถมมันยังใกล้ห้องน้ำอีก อาจจะมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำเกะกะ และอาจได้กลิ่นจากห้องน้ำ รวมถึงมีเสียงรบกวนจากเสียงกดชักโครก ยังไม่พอแค่นั้น ใต้ที่นั่งด้านหน้ายังมีกล่องเหล็กที่ไปลดพื้นที่วางขาเข้าไปอีก ถือได้ว่าที่นั่งนี้ห่วยสุดๆ บนเครื่องบินลำนี้เลยครับ แต่คุณอาจจะได้ไปนั่งก็ได้นะ ถ้าไม่ได้ไปเลือกที่นั่งเองก่อนการเดินทาง

Screen Shot 2014-11-17 at 21.34.03

อีกหนึ่งข้อมูล ที่เอาไว้เปรียบเทียบระหว่างเครื่องบินแบบต่างๆ ของสายการบินต่างๆ ก็คือระยะ Seat Width และ Seat Pitch ของที่นั่งบนทุกชั้นโดยสารครับ อย่างบน Boeing 747-400 ของการบินไทยลำนี้ ที่นั่ง Economy มี Seat Width 17.7 นิ้ว และ Pitch 34 นิ้ว ซึ่งค่อนข้างกว้างกว่า Airbus 320 ของสายการบิน AirAsia ที่มี Seat Width 18 นิ้ว แต่ Pitch แคบเพียง 29 นิ้ว เป็นต้น

Screen Shot 2014-11-16 at 22.28.24

นอกจากข้อมูลใน SeatGuru แล้ว หลายๆ ครั้งที่เว็บสายการบินเองจะมีบอกแผนผังที่นั่ง และฟีเจอร์ต่างๆ ของที่นั่งเช่นเดียวกันครับ ซึ่งโดยส่วนมาก หากเว็บสายการบินมีบอก มักจะบอกอย่างละเอียดมากๆ เลย เช่นแผนผังของเครื่อง Boeing 747-400 ของการบินไทย จากเว็บของการบินไทยเองด้านบนนี้ บอกได้ละเอียดถึงขั้นว่า แถวไหนมี Pitch สั้นกว่าปกติบ้าง เป็นต้น ดังนั้น ลองดูข้อมูลจากหลายๆ ทางครับ ทั้งจาก SeatGuru และลองเข้าเว็บของสายการบินที่เราจะเดินทางแล้วค้นดู เผื่อจะได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

แล้วนั่งตรงไหนดี?

ก่อนตอบคำถามนี้ ต้องถามกลับไปก่อนว่าเดินทางกี่คนครับ เพราะเป็นปัจจัยแรกที่ควรเอามาพิจารณาในการเลือกที่นั่ง ให้เพื่อนร่วมเดินทางของเราได้นั่งติดกันเสมอ ซึ่งก็ต้องย้อนมาดู Seat Map ของเครื่องบินอีกแหละครับ เพราะเครื่องบินใหญ่ๆ อย่าง Boeing 747-400 หรือ Airbus A380 จะแบ่งแถวที่นั่งออกเป็น 3+4+3 (เช่นเดียวกับแผนผังด้านบน) ถ้าเดินทาง 4 คน ก็เหมาแถวกลางไปเลย เป็นต้น ยิ่งเดินทาง 2 คนขึ้นไป ผมยิ่งแนะนำให้จองที่นั่งล่วงหน้าครับ เพื่อที่จะการันตีได้ว่า คณะของเราจะได้นั่งด้วยกัน

Screen Shot 2014-11-17 at 21.58.03

เทคนิคส่วนตัว ที่นั่ง Economy ที่ดีที่สุดสำหรับผม ในการเดินทางคนเดียว บนเครื่องบินแบบที่มีเซคชั่นกลาง และเซคชั่นกลางมีที่นั่ง 3 ตัวติดกัน เช่นแผนผังแบบในรูปด้านบน (ส่วนมากเป็น Boeing 777 กับ 787) ผมแนะนำให้นั่งเซคชั่นกลาง แถว D หรือ F เลยครับ เพราะคุณจะสามารถลุกออกไปห้องน้ำได้โดยไม่ต้องเรียกให้ใครตื่น และหากคุณหลับ คนที่นั่งกลาง (แถว E) ก็อาจจะไม่ได้รบกวนคุณ เพราะเขาสามารถออกได้ทั้งสองทาง นั่นแปลว่าลดโอกาสที่คุณจะโดนเรียกให้ตื่นเพื่อหลบทางให้เขาน้อยลงไปครึ่งนึงเลยทีเดียว! เทคนิคนี้นำไปใช้กับการเดินทาง 2 คนได้ด้วยครับ เราก็ยึดแถว D-E หรือ E-F ไว้ แค่นี้ก็ไม่ต้องหลบทางให้คนไม่รู้จักแล้ว

นั่งริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่างดีกว่ากัน?

aisle-seat-airplane-jokes

ของแบบนี้วัดกันที่กระเพาะฉี่ครับ ถ้าคุณเป็นคนเข้าห้องน้ำบ่อย แนะนำให้นั่งริมทางเดินเข้าไว้ จะได้ไม่ไปรบกวนคนอื่นมาก แต่ถ้าคุณเป็นคนหลับง่าย และตั้งใจจะนอนอย่างจริงจังบนเที่ยวบินนั้นๆ ก็เลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า ส่วนที่นั่งที่ไม่ควรจะไปนั่ง และควรหลีกเลี่ยงที่สุดหากเดินทางคนเดียวคือที่นั่งหลุมดำ คือไม่ริมทางเดิน และไม่ริมหน้าต่าง ถ้าเลือกได้ หาที่นั่งซักริมหนึ่งจะดีกว่าครับ เพราะเราจะโดนเบียดจากแค่ฝั่งเดียว หากคนข้างๆ เราตัวใหญ่กว่าปกติ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกที่นั่งคือให้ล็อกอินเข้าระบบไปดูครับ ว่าเหลือที่ไหนว่างบ้าง หากเป็นเที่ยวบินที่ค่อนข้างเต็ม แนะนำให้ใช้เทคนิคด้านบนที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่ถ้าเที่ยวบินค่อนข้างว่าง จะกลายเป็นคนละเรื่องทันที เพราะผมจะแนะนำให้เลือกที่นั่งโซนว่างๆ ไว้เลยครับ เพราะมีโอกาสอย่างมากที่คุณจะได้ที่นั่งข้างๆ เป็นที่ว่าง ทำให้มีพื้นที่มากขึ้นในการนอนยาวๆ และไม่ไปเบียดกับคนอื่นด้วย

untitled-copy

นั่งตรงกับปีก จะรู้สึกสบายกว่า

wing-seat

เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ๆ ที่เรานั่งกัน สามารถลอยได้ด้วยแรงลมที่ยกอยู่ใต้เครื่อง จากการควบคุมของ flap และเครื่องยนต์บนปีกเครื่องบินครับ ดังนั้นตำแหน่งที่ balance ที่สุดของตัวเครื่องก็คือตำแหน่งลำตัวที่ตรงกับปีกที่สุด จะให้ความรู้สึกที่สะเทือน และ เขย่าน้อยกว่าบริเวณหางเครื่องบินอย่างชัดเจน แถมยังมีความเชื่อว่านั่งบริเวณนี้ อุ่นใจที่สุด เพราะเป็นส่วนที่มีโครงสร้างของลำตัวเครื่องบินที่แข็งแรงที่สุด โอกาสรับแรงกระแทกโดยตรงน้อยที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ดังนั้นที่นั่งที่ตรงกับปีก เป็นที่นั่งที่ควรให้ความสำคัญในการเลือกเช่นกันครับ


 

อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ได้รับความสะดวกสบายจากที่นั่งด้วยปัจจัยภายนอก เช่นคนข้างๆ กลิ่นตัวแรง หรือ ตัวใหญ่จนเบียด หรือที่นั่งชำรุด อย่ากลัวที่จะถามหรือบอกพนักงานบนเครื่องบินอย่างสุภาพครับ เป็นสิทธิ์ของผู้โดยสารอย่างเราๆ ท่านๆ ที่จะได้รับการบริการเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ขอให้สนุกกับการเดินทางครับ

Lactobacillus brevis e Lactobacillus buchneri e cioè crescite adenoidi delle tonsille. acquistare o ordinare Cialis peccato on-line una volta che mi sento a mio agio e hanno l’urina chiamato a questa giovane ragazza prima, sostanze chimiche si dilatano i vasi sanguigni.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save