รีวิว Wi-Fi บนเครื่องบิน การบินไทย (THAI Sky Connect)

ยุคนี้หลายคนคงใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟน, แทบเล็ต, คอมพิวเตอร์กันทุกที่ทุกเวลา จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่น่าหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางด้วยเครื่องบิน ที่เรามักจะถูกบังคับให้ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขาดการเชื่อมต่อจากโลกอินเทอร์เน็ตที่เราคุ้นเคยอยู่เป็นประจำ

หลายสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก พยายามที่จะนำเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินหรือ Wi-Fi On Board มาให้บริการกับลูกค้าตัวเอง ซึ่งขณะนี้ก็มีกันค่อนข้างแพร่หลายแล้ว (แต่หลายคนไม่ทราบ เพราะคุ้นเคยกับการปิดมือถือตลอดการเดินทาง ไม่ค่อยได้เปิดมาเช็คว่าจริงๆ แล้ว มันมี Wi-Fi ให้ใช้บนเครื่องบินด้วยนะ!) โดยผู้ให้บริการ Wi-Fi บนเครื่องบินรายแรกของโลกคือสายการบิน Lufthansa ของเยอรมัน เปิดให้บริการในปี 2004ในราคา $9.95 ต่อ 1 ชั่วโมง และ $29.95 ต่อการใช้งานไม่จำกัดบนเที่ยวบินนั้นๆ

ปัจจุบัน 16 สายการบินหลักในสหรัฐอเมริกา มีให้บริการ Wi-Fi บนเครื่องบินทั้งหมด โดยสายการบินที่ให้บริการมากที่สุดคือสายการบิน Delta ที่มีเครื่องบินมากกว่า 500 ลำติดตั้งบริการ In-flight Wi-Fi โดยสายการบินส่วนมากใช้บริการ Wi-Fi ของบริษัท Gogo Inc. ที่ถือว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการ In-flight Broadband ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ ด้วยจำนวนเครื่องบินกว่า 2,000 ลำของสายการบินพาณิชย์ บวกกับบนเครื่องบินส่วนตัวอีกกว่า 6,000 ลำทั่วโลก แต่ก็ยังมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบินรายอื่นๆ อีกมาก ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แต่ละสายการบิน อาจให้ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน ทั้งความยากง่ายในการเชื่อมต่อ ความเร็ว และราคาที่ต่างกันได้ด้วย

การบินไทย เพิ่งเปิดให้บริการ Wi-Fi On Board เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา ในชื่อ THAI Sky Connect ซึ่งถือว่าเปิดได้ช้ากว่าสายการบินพาณิชย์อื่นๆ ค่อนข้างมากทีเดียว โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน 2 แบบ ที่สามารถใช้งานได้ คือ Airbus A330-300 (33H) จำนวน 7 ลำ และ Airbus A380-800 จำนวน 6 ลำ ในเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพ กับ ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, โซล, โตเกียว-นาริตะ, โอซาก้า, ไทเป, ย่างกุ้ง, กัวลาลัมเปอร์, เพิร์ธ, บอมเบย์, แฟรงก์เฟิร์ต และ ปารีส เฉพาะเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินชนิดที่รองรับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุกเที่ยวบินของแต่ละเส้นทางนะครับ

thaiskyconnect-service

ผมได้ทดลองใช้ THAI Sky Connect ครั้งแรกบนเครื่องบินแบบ Airbus A380-800 เที่ยวบิน TG677 จากท่าอากาศยานโตเกียวนาริตะ (NRT) กลับมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (BKK) ซึ่งวิธีเปิดใช้งานก็ง่ายมาก แค่รอให้เครื่องบินเทคออฟไปเหนือระดับ 1,500 ฟุต ก็จะมองเห็น Wi-Fi hotspot ที่ชื่อว่า “OnAir” เลือกเชื่อมต่อ และบราวเซอร์จะเปิดหน้าล็อกอินมาให้แบบนี้ (ผมลองใช้กับสมาร์ทโฟนนะ)

Screenshot_2014-07-23-18-12-48

ถ้าเข้ามาครั้งแรก ก็เลือกไปที่ Sign up เพื่อทำการเลือกแพ็กเกจ กรอกรายละเอียดส่วนตัว และบัตรเครดิตเพื่อชำระเงินก่อน ถึงจะได้รหัสการใช้งานมา

ปัจจุบัน แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตของ THAI Sky Connect มีอยู่ 2 ราคา ชนิดแพงสุดโหด คือ

Package สำหรับ Smart Phone

3 MB ราคา $4.50
10 MB ราคา $14.50

Package สำหรับ Laptop/ iPad

10 MB ราคา $14.50
20 MB ราคา $28.50

โดยทั้งหมดคิดตามปริมาณการใช้งาน (volume based) ไม่มีราคาที่คิดตามเวลาการใช้งาน (time based) เลย ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่โหดมากเมื่อเทียบกับบริการ In-flight Wi-Fi ของสายการบินอื่นๆ ที่ส่วนมากจะมีให้เลือกแพ็กเกจทั้งแบบ volume-based และ time-based ซึ่งขออนุญาตเปรียบเทียบราคาของสายการบินอื่นๆ ตามนี้ (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2557)

Singapore Airlines

  • มีบน Airbus A380 และ Boeing 777-300ER
  • 10MB ราคา $9.99 หรือ
  • 1 ชั่วโมง ราคา $11.95

Lufthansa (SkyNet)

  • มีบนเครื่อง Long-haul เกือบทุกลำ ยกเว้น Airbus A380 (อยู่ในขั้นตอนติดตั้ง) และ Boeing 747-800
  • 1 ชั่วโมง ราคา €9
  • 4 ชั่วโมง ราคา €14
  • 24 ชั่วโมง ราคา €17

EVA Air (SKY Wi-Fi)

  • มีบน Boeing 777-300ER บางลำ
  • 1 ชั่วโมง ราคา $11.95
  • 3 ชั่วโมง ราคา $16.95
  • 24 ชั่วโมง ราคา $21.95

Air Canada

  • ใช้บริการของ Gogo Inc.
  • 1 ชั่วโมง ราคา $5
  • 24 ชั่วโมง ราคา $14
  • Unlimited 1 เดือน ราคา $49.95

ANA

  • มีบนเที่ยวบินระหว่างประเทศของ Boeing 777-300ER และ 767-300ER
  • 5MB ราคา $6
  • 10MB ราคา $12
  • 20MB ราคา $24
  • (มันจะแบ่งเป็น 3 แพ็กทำไม คูณออกมาราคาเท่ากัน แถมแพงไม่แพ้การบินไทย)

British Airways

  • มีบนเครื่อง Boeing 747-400 เพียงลำเดียว ทำการบินระหว่าง New York JFK และ London City Airport
  • 1 ชั่วโมง ราคา £8
  • 24 ชั่วโมง ราคา £15

United

  • ใช้บริการของ Gogo Inc.
  • 1 ชั่วโมง ราคา $5
  • 24 ชั่วโมง ราคา $14
  • Unlimited 1 เดือน ราคา $49.95

 Emirates

  • มีบน Airbus A380 เกือบทุกลำ และ Boeing 777 บางลำ
  • 10MB ฟรี
  • 600MB ราคา $1

นกแอร์

  • มีแล้ว 1 ลำ บน Boeing 737-800 (นกบุษราคัม) และอยู่ในขั้นตอนทะยอยติดตั้งเพิ่ม
  • ฟรี!

ถ้าลองเทียบราคาดูคร่าวๆ แล้ว จะเห็นเลยว่า THAI Sky Connect ของการบินไทย แพงสุดเลยครับ ทั้งๆ ที่เปิดให้บริการหลังคนอื่นค่อนข้างนาน แถมตอนนี้ มีบางสายการบินเริ่มให้บริการ Wi-Fi บนเครื่องบินแบบฟรีๆ กันแล้ว จากข้อมูลที่ผมทราบ ตอนนี้มี 7 สายการบินทั่วโลก ที่ให้บริการฟรี คือ

  • JetBlue (ฟรีที่ความเร็วปกติ แต่ถ้าอยากได้เร็ว ก็จ่ายชั่วโมงละ $9)
  • Norwegian (บน Boeing 737-800 ระยะสั้นภายในยุโรปเท่านั้น ไม่มีให้บริการในเที่ยวบินระยะไกล)
  • Turkish Airlines (ฟรี เพราะอยู่ในช่วงทดลองใช้)
  • Air China (ฟรี แต่เชื่อมต่อจากสมาร์ทโฟนไม่ได้)
  • Philippine Airlines (เฉพาะเส้นทาง มะนิลา-ลอนดอน และ ลอนดอน-มะนิลา)
  • Hong Kong Airlines (เฉพาะเส้นทาง ฮ่องกง-ลอนดอน และ ลอนดอน-ฮ่องกง)
  • นกแอร์ (มีแค่ลำเดียวตอนนี้)
SkyConnect_TH

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาลองใช้ของแพง THAI Sky Connect บน Airbus A380 ของการบินไทยกันครับ ผมเลือกแพ็ก 10MB ราคา $14.50 หรือเกือบ 500 บาทดู ก็กรอกข้อมูลบัตรเครดิตแล้วรอสักครู่

Screenshot_2014-07-23-18-14-52

หลังจากที่จ่ายเงินสำเร็จแล้ว เราจะได้หน้าจอที่พร้อม Connect มา แต่จะยังไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้นะครับ ข้อดีคือ เราสามารถเตรียมความพร้อมได้ก่อนที่จะเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ต (เพราะข้อมูลทุก kb ที่ไหลเข้าออก เป็นเงินเป็นทอง) ปิดแอพที่ไม่จำเป็นให้เรียบร้อย ก่อนที่จะกดปุ่ม Connect ซึ่งหน้าจอนี้จะเป็นหน้าจอหลักในการเปิด/ปิดการใช้งานระหว่างเที่ยวบินได้ด้วย นั่นคือการใช้งาน 10MB ของผม ไม่จำเป็นต้องใช้งานแบบต่อเนื่องก็ได้ครับ จะเปิดมาเช็คเมล หรือส่ง LINE สัก 10 นาที แล้วก็ปิดไว้ พออยากใช้อีก ก็ค่อยมา Connect ใหม่ ทำให้ไม่เปลืองข้อมูล

Screenshot_2014-07-23-18-15-03

บริเวณแถบด้านล่างของหน้าจอ จะเป็นแถบบอกปริมาณการใช้งาน ว่าเราใช้ไปแล้วกี่ MB เหลือให้ใช้ได้อีกกี่ MB ครับ ทันทีที่ใช้ครบแพ็กเกจ ก็จะตัดการใช้งาน และถามว่าจะให้เก็บเงินการใช้ส่วนที่เกิดแพ็กอีก $0.20 ต่อ 100kB (หรือ MB ละ $2 นั่นแหละ) หรือไม่ ซึ่งถ้าอยากจะใช้เพิ่มอีก ก็ไปกดซื้อแพ็กใหม่ดีกว่า

ตรงนี้แหละ ถ้าใครกด Connect ต่อโดยไม่ได้อ่าน โดนเรียกเก็บอย่างแพงจนล้มละลายได้ง่ายๆ

Screenshot_2014-07-23-19-29-54

*เพิ่งมีข่าวผู้โดยสารของสายการบิน Singapore Airlines โดนเรียกเก็บค่าใช้ Wi-Fi บนเครื่องบินไปกว่า $1,200 จากการเลือกใช้งานแบบ volume-based และใช้เกินแพ็ก http://www.geek.com/news/airline-charges-passenger-1200-for-checking-emails-during-flight-1609529/

คำถามคือ แล้วแพ็กเกจ 10MB นี่มันใช้อะไรได้บ้าง? …. คือมันน้อยมากครับ 10MB เนี่ย อย่าไปคาดหวังกับการใช้งานสมาร์ทโฟน 3G/4G แบบปกตินะครับ แค่บราวซ์หน้าเว็บแป๊บเดียว ก็หมดเป็น MB แล้ว การส่งรูป โดยปกติก็จะอยู่ที่ราวๆ 100-400 kB ต่อหนึ่งรูป อย่าเอาไปใช้อัพรูปที่ไปเที่ยวมาขึ้นเว็บตอนนี้ เพราะหมดตัวแน่ๆ ครับ

ส่วนถ้าเปิดแชท LINE ปกติ โดยไม่กดโหลดรูปใหญ่ที่เพื่อนส่งเข้ามา หรือไม่ส่งรูปจากเครื่องเราเข้าไป ผมยืนยันว่า 10MB นี่ใช้แชทได้ยาวจากโตเกียวถึงกรุงเทพครับ หรือจะแถมเช็คอีเมล ส่งอีเมล (แบบไม่แนบรูป) ดูไทมไลน์ทวิตเตอร์ ได้ตลอดการเดินทางด้วย มีข้อแม้คือ อย่าไปเปิดแอพ Facebook ที่มีการโหลดรูปขึ้นมาเป็นจำนวนมากๆ ก็พอ รวมถึงใครใช้ Android ก็อย่าลืมไปปิดฟังก์ชัน Sync ที่มันจะคอย backup รูปในเครื่องขึ้นเซิร์ฟเวอร์ของ Google อัตโนมัติเมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi ละกันครับ

Screenshot_2014-07-23-18-27-14

สำหรับนักเทรดหุ้นทั้งหลาย 10MB ใช้งาน Streaming ได้รอดเป็นชั่วโมงครับ ส่งคำสั่งซื้อขายได้ทัน ไม่ตกรถ

ความเร็วล่ะ? …. ช้า อืด ถืดครับ อย่าไปคาดหวังอะไรกับมันมากกับ THAI Sky Connect มันมีไว้พอใช้งาน ตอบเมลด่วน ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นได้ แชท LINE แก้เหงาแก้เบื่อได้ ซึ่งแพ็ก 10MB เป็นแพ็กที่ผมแนะนำที่สุดในการที่จะใช้งานครับ แพ็ก 3MB จะเล็กไปหน่อยสำหรับสมาร์ทโฟนในยุคนี้ แล้วก็แนะนำให้เปิด/ปิดเมื่อต้องการใช้งานจริงๆ เท่านั้น

ข้อจำกัดของ THAI Sky Connect ที่การบินไทยระบุไว้ คือ จะไม่สามารถใช้งานบนน่านฟ้าบางประเทศได้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม เกาหลี ซึ่งเมื่อเครื่องบินทำการบินผ่านน่านฟ้าดังกล่าว สัญญาณอินเทอร์เน็ตจะถูกระงับไว้ชั่วคราว และไม่คิดค่าบริการในขณะนั้นๆ และอีกหนึ่งข้อจำกัดคือ ไม่สามารถใช้งานพร้อมกันหลายอุปกรณ์ได้ ต้องซื้อแพ็กแยกกันครับ

20140723_165909

ถึงแม้ว่าราคา $14.50 หรือเกือบ 500 บาท ต่อการใช้งานเพียง 10MB ของการบินไทยจะดูแพงมาก (แทบจะแพงที่สุดในโลกก็ว่าได้) เมื่อเทียบกับราคาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน แต่อย่างน้อย เราก็มีเทคโนโลยีที่ทำให้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แม้จะอยู่บนฟ้า ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบินไทยจะปรับราคาแพ็กต่างๆ ลงในอนาคต และเพิ่มตัวเลือกให้กับเครื่องบิน type อื่นๆ ของตัวเองอย่างที่สายการบินอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มขยับขยายให้มี In-flight Wi-Fi กันทุกลำแล้ว บางทีแค่การเดินทาง 1-2 ชั่วโมงในเส้นทางใกล้ๆ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เลย ก็ทำให้นักเดินทางหลายคนเสียโอกาสดีๆ ไปไม่น้อยครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save